สำรวจโครงสร้างความสัมพันธ์ตลาดรถยนต์ผิดกฎหมาย

อาชญากรรม
18 ส.ค. 63
18:12
722
Logo Thai PBS
สำรวจโครงสร้างความสัมพันธ์ตลาดรถยนต์ผิดกฎหมาย
ไทยพีบีเอสวิเคราะห์รูปแบบอาชญากรรมนำเข้ารถยนต์ผิดกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายอาชญากรรมจากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ

ตลาดการค้ารถยนต์ระหว่างประเทศ กรณีรถยนต์ Mercedes-Benz

Mercedes-Benz เป็นแบรนด์รถยนต์ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานในประเทศไทย ส่วนใหญ่นำเข้ารถยนต์จะผ่านผู้นำเข้า 2 ประเภท คือบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าโดยตรง และบริษัทผู้นำเข้าอิสระ

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีมีการนำเข้า 35,063 คัน โดยเฉพาะแบบ E class มีการนำเข้าสูงสุด คือ 14,468 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 41.26 แต่ที่มีข้อมูลถูกต้องสมบูรณ์มี 14,099 คัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท มาจากผู้นำเข้า 294 ราย/บริษัท (ยกเว้นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากประเทศแถบแคริบเบียน)

เมื่อเปรียบเทียบเบื้องต้นจะเห็นว่าในด้าน “จำนวน” ของทั้งผู้นำเข้า 2 ประเภทนี้ใกล้เคียงกัน แต่ด้าน “มูลค่า” กลับต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

 

เพราะการสำแดงราคานำเข้าของแต่ละบริษัท แม้จะเป็นรถยนต์ประเภทและรุ่นเดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก เช่น

E-class Mode Type: (A207) Model Code: 207.447 Engine Model: 271.860 Transmission Model: 722.618 Model Name: E 250 CGI Body Type: Cabriolet Production Year: 2011

  • บริษัทผู้นำเข้าอิสระ สำแดงราคานำเข้า 859,434.73 บาท
  • บริษัทผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย สำแดงราคานำเข้า 1,803,798.90 บาท
  • ความแตกต่างของราคาระหว่างสองบริษัท 944,364.17 บาท

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้นำเข้าสามารถแจ้งรุ่นรถยนต์ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและสำแดงราคาต่ำกว่าเป็นจริงได้ง่าย เนื่องจากการแยกแบบรถยนต์ รุ่นรถยนต์ รุ่นย่อยๆ จำนวนมาก ทำให้เกิดความสับสนหรือเกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน

 

Mercedes-Benz มีการออกแบบและผลิตรถยนต์แบ่งออกเป็นแบบ (Class) แบบโครงรถยนต์ (Model Type) รุ่นรถ (Model Name) แบบรถยนต์ (Body Model) และรุ่นรถย่อยๆ ที่สร้างจากรุ่นเดิมที่เป็นตัวแม่ เมื่อผลิตได้ 3-4 ปีก็จะเลิกผลิตแล้วสร้างรุ่นย่อยขึ้นมาใหม่ จนอาจกล่าวได้ว่าแบบรถยนต์ของ Mercedes-Benz มีมากกว่าสายการผลิตรถยนต์ของโรงงานรถยนต์อื่นมากที่สุด

โดยรถที่นำเข้าไทยสามารถจำแนกรหัสแบบตัวรถ (Mode Code) รถยนต์ได้มากถึง 52 แบบ รหัสแบบเครื่องยนต์ 20 แบบ และรหัสแบบเครื่องส่งกำลัง 21 แบบ และชื่อรุ่นรถยนต์ 9 รุ่น จึงทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความสับสนได้ง่าย

เมื่อหามูลค่าส่วนต่างที่ขาดหายไป โดยเปรียบเทียบราคานำเข้ารถยนต์รุ่นเดียวกันของบริษัทผู้นำเข้าอิสระและบริษัทตัวแทนผู้นำเข้า ทำให้เห็นรหัสแบบตัวรถที่ตรงกัน 13 แบบ มูลค่า 15,500 ล้านบาท คำนวณแล้วพบว่ามีมูลค่าราคาที่สำแดงขาดไปมากกว่า 4,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของมูลค่าที่สำแดง

 

นอกจากการสำแดงราคาที่แตกต่างกันมากนี้ เมื่อตรวจสอบรหัสเลขแบบตัวรถ รหัสเลขแบบเครื่องยนต์ และรหัสอื่นๆ เปรียบเทียบกัน พบว่า บริษัทผู้นำเข้าจะระบุรุ่นรถยนต์ “ไม่ตรงกัน” กับข้อมูลจากโรงงานผู้ผลิต โดยรุ่นที่สำแดงจะเป็นแบบหรือรุ่นที่มีราคาต่ำกว่ารุ่นที่แท้จริง เพื่อคำนวณได้ภาษีที่ต้องจ่ายน้อยลง

โดยพบว่ามีการจับกลุ่มของกลุ่มบริษัทเครือข่ายผู้นำเข้าที่มีแบบแผนชัดเจน

เครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

แม้ผู้นำเข้ารถยนต์ของไทยจะสั่งซื้อจากบริษัทส่งออกสินค้าในประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคของผู้ผลิตเหมือนการทำธุรกิจทั่วไป แต่รถยนต์ Mercedes-Benz บางส่วน กลับมีหลักฐานระบุว่า ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียนเป็น order location หรือ order destination อันได้แก่ หมู่เกาะเคย์แมน ประเทศบาร์เบโดส สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่อาชญากรนิยมใช้เป็นสถานที่ฟอกเงิน

ทั้งนี้ยังนำเข้าจากยุโรปเป็นอันดับรองลงมา เช่น สหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ, ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เช่น ดูไบ โอมาน บาร์เรน, ประเทศในเอเชีย เช่น ฮ่องกง และญี่ปุ่น และสุดท้ายจากอเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

บริษัทส่งออกสินค้าในประเทศต่างๆ ที่ทำธุรกรรมด้วยนั้น แท้จริงคือนอมินีในประเทศที่สามที่องค์กรอาชญากรรมตั้งขึ้น ให้ความร่วมมือกันในการปลอมแปลงเอกสารนำเข้าสินค้า ทั้งการระบุรุ่นรถไม่ตรงกับความจริง และสำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จ

 

องค์กรอาชญากรรมอาศัยช่องโหว่ของระบบการตรวจสอบของไทยที่ไม่ได้รับความสำคัญมากนัก เห็นได้จากการนำเข้าจากดินแดนเขตเกาะปลอดภาษีในประเทศในแถบหมู่เกาะแคริเบียน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการขนส่ง หรือต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าที่พึงเกิดขึ้นนั้น นับว่าไม่มีความสมเหตุสมผลในการดำเนินธุรกิจ

อาจกล่าวได้ว่าเป็นแบบแผนในระบบฟอกเงินข้ามชาติที่เรียกว่า Trade-Based Money Laundering ซึ่งเป็นรูปแบบวิธีการที่องค์การอาชญากรรม หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และองค์กรก่อการร้ายนิยมใช้ในการดำเนินกิจกรรมแสวงหาประโยชน์ทางการเงินหรือการจัดหาทุน

ฟอกรถยนต์ผิดกฎหมาย

รถยนต์ที่นำเข้านั้นแบ่งเป็น รถยนต์ใหม่ รถเก่าใช้แล้ว รถโจรกรรม และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งนอกจากการปลอมแปลงเอกสารนำเข้าที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีการอื่นๆ ทั้งการลักลอบนำเข้าแล้วค่อยนำผ่านพิธีการศุลกากรมาจดประกอบ, การปล่อยให้ถูกเจ้าหน้าที่จับได้เพื่อนำเข้าตลาดประมูลของกลาง ก็จะได้ซื้อในราคาที่ถูกกว่า, และการนำเข้าโดยบอกว่าเป็นการใช้เฉพาะตัว

วิธีการเหล่านี้ทำให้สุดท้ายรถยนต์ได้ผ่านพิธีการศุลกากร ชำระภาษีสรรพาสามิต จดทะเบียนถูกกฎหมายตามปกติ อย่างไรก็ตามนับว่ามีความผิดใน 3 ฐานความผิดคือ 1.ลักลอบหนีศุลกากร 2.หลีกเลี่ยงภาษีอากรและสำแดงเท็จ 3.นำเข้าของต้องห้าม ต้องกำกัด

 

เมื่อสำรวจเฉพาะการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเพื่อใช้เฉพาะตัว พบว่า พ.ศ.2550 - 2559 มีการนำเข้าจาก 35 ประเทศ รวม 794 คัน มากที่สุดคือมาจากสหราชอาณาจักร (ยุโรป) ที่องค์กรอาชญากรรมตั้งบริษัทส่งออก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา (อเมริกาเหนือ) และญี่ปุ่น (เอเชีย)

โดยร้อยละ 70 ของจำนวนรถยนต์ที่นำเข้าคือ 10 แบรนด์ยอดนิยม โดยเฉพาะ Mercedes-Benz และ Porsche มีการสำแดงรุ่นปีที่ผลิตหรือแบบรถที่ราคาต่ำกว่าจริง เช่นเดียวกันกับวิธีที่นำเข้าจากแคริบเบียนหรือประเทศอื่นๆ โดยองค์กรอาชญากรรม

จากการตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้นจริงสามารถสรุปการนำเข้ารถยนต์ผิดกฎหมายได้ 6 กรณีดังนี้

  1. การสำแดงเท็จการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ และรถยนต์ใหม่และเก่า หรือรถยนต์โจรกรรม
  2. การลักลอบรถยนต์จากเขต Free Zone (เช่นประเทศแถบแคริบเบียน)
  3. การโจรกรรมและลักลอบรถยนต์ผ่านชายแดนขององค์กรอาชญากรรมต่างประเทศ
  4. ขบวนการรถยนต์จดประกอบจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ใช้แล้ว
  5. การนำรถยนต์โจรกรรมและจดประกอบ เข้าสู่ตลาดการประมูลรถหรูของกรมศุลกากร
  6. การนำรถยนต์โจรกรรมเข้าสู่พิธีการนำเข้าสินค้าของกรมศุลกากร

 

โครงสร้างเครือข่ายนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้นำเข้า (วงกลมสีฟ้าเลข 1-2) ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับบุคคล กลุ่มบุคคล และนิติบุคคลภายในเครือข่าย โดยรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (วงกลมสีแดง) ที่เป็นสมาชิกในสังกัด ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลาง” เชื่อมต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ

จุดสำคัญที่เปรียบเสมือน “สะพาน” เชื่อมระหว่างกลุ่มย่อย คือผู้ที่อยู่ในวงกลมสีเหลือง (เลข 1-8) ประกอบด้วย บริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัทผู้จำหน่ายเครื่องยนต์ บริษัทผู้จำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์ส่วนควบ ที่ทำให้กิจกรรมเครือข่ายไหลเวียนสมบูรณ์

ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องพบว่า จุดสัมผัสแรกคือเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถทำให้การดำเนินกิจกรรมเครือข่ายเริ่มต้นหรือสิ้นสุดลงได้ ณ จุดนี้

วงแหวนสีเทา คือส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์โดยตรงกับตัวการสำคัญคือ บริษัทผู้นำเข้าและไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสมาชิกคนอื่นในเครือข่ายอีกเลย แตกต่างจากเจ้าหน้าที่สรรพสามิต (วงแหวนสีเขียว) หรือเจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัด (วงแหวนสีน้ำตาล) ที่มีโอกาสได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสมาชิกอื่นๆ ที่มีบทบาทหน้าที่ต่าง กันในเครือข่าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง