แนะ "ครู-นักเรียน" ร่วมสร้างเซฟโซนในโรงเรียน เพื่อการแสดงออกเสรี

การเมือง
19 ส.ค. 63
12:11
337
Logo Thai PBS
แนะ "ครู-นักเรียน" ร่วมสร้างเซฟโซนในโรงเรียน เพื่อการแสดงออกเสรี
โฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร แนะโรงเรียนวางหลักเกณฑ์ร่วมกับครูและนักเรียนเปิดสถานศึกษาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แสดงออก แนะผู้ปกครองดำเนินคดีครูทำร้ายเด็กเพื่อเป็นตัวอย่าง จี้ ศธ.พัก-ถอนใบอนุญาตครูทำร้ายเด็ก

วันนี้ (19 ส.ค.63) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ถึงกรณีนักเรียนถูกทำรุนแรงภายในโรงเรียนจากการแสดงออกทางการเมือง โดยระบุว่า ได้รับรายงานว่า มีเด็กถูกคุกคามและทารุณกรรมและทำร้ายร่างกายทั้งการกระชากผม ตบศีรษะ และเตะนักเรียนโดยครู และข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบมีการร้องเรียนเข้ามาวันละกว่า 30 -70 เรื่อง โดยร้อยละ 80 เป็นการกระทำโดยครู

นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการแสดงออกทางการเมืองภายในโรงเรียนต้องใช้การพูดคุย หลังกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบและเปิดให้พื้นที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองของเด็กในครั้งนี้มีความชอบธรรมทั้งการผูกริบบิ้นสีขาว ชูกระดาษเปล่า หรือชู 3 นิ้ว ซึ่งไม่ได้สร้างผลกระทบกับผู้อื่นทั้งเสียงดังหรือกระทบการสัญจร ดังนั้นการแสดงออกในครั้งนี้เป็นการแสดงออกโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรมีข้อตกลงระหว่างครูและนักเรียนเพราะไม่ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่เมื่อพบว่ามีการใช้ความรุนแรงโดยครูและพยายามให้เด็กไปจัดกิจกรรมภายนอกโรงเรียนซึ่งอาจผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และการถูกจับกุมดำเนินคดีซึ่งไม่ถูกต้อง โดยการผลักดันให้เด็กออกมาจัดกิจกรรมภายนอกโรงเรียนอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาหลายมาตราและอาจผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

ควรพูดคุยและหาข้อตกลงในการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน เพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าาย ขณะที่นักเรียนถูกกระทำ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยปละละเลย และควรแจ้งความดำเนินคดีซึ่งผู้ปกครองมักที่จะกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูก แต่ข้อมูลทางสถิติโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นพบว่า ผู้ปกครองที่ไม่แจ้งความและยอมความกัน ซึ่งครูที่กระทำทารุณกรรมต่อนักเรียนจะผลิตนวัตกรรมอื่นในการรังแก (บูลลี่) เช่น การเมินเฉยต่อนักเรียน การพูดเสียดสี และมีแนวโน้มที่จะกระทำซ้ำกับเด็กคนอื่น ซึ่งต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายควบคู่กับการหาหลักเกณฑ์ขอบเขตเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

โฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการมีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน ในการดำเนินคดีทางกฎหมายอาญาและวินัยดับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็กอย่างจริงจัง และอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ผู้ปกครองควรดำเนินคดีจนถึงที่สุดเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง และบรรทัดฐานว่าครูไม่สามารถกลั่นแกล้งหรือใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน จนถึงการพักหรือถอนใบอนุญาตครูที่เป็นผู้กระทำหากมีกรณีตัวอย่างเชื่อว่าสถานการณ์จะเบาบางลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง