THE EXIT : ตรวจสอบโครงการเน็ตประชารัฐ

ภูมิภาค
20 ส.ค. 63
19:45
1,746
Logo Thai PBS
THE EXIT : ตรวจสอบโครงการเน็ตประชารัฐ
ผ่านมา 4 ปี หลังรัฐบาลใช้เงินกว่า 13,000 ล้านบาท ไปกับโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อให้กว่า 20,000 หมู่บ้านทั่วประเทศได้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตใช้ แต่กลับพบว่า ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่เชื่อมต่อสัญญาณได้

สภาพโครงข่ายบางแห่งถูกทิ้งร้าง บางแห่งเจ้าหน้าที่แนะนำให้ชาวบ้านซื้ออุปกรณ์มาเชื่อมสัญญาณเพิ่มทั้งที่อยู่ ห่างจากจุดกระจายสัญญาณเพียง 10 เมตร

ต้นเดือน ก.ย.2562 มีคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมการใช้ประโยชน์จุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ บ้านวังถั่ว ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จโครงการเน็ตประชารัฐ

 

ผ่านมาเกือบ 1 ปี จุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ บ้านวังถั่ว ตามที่เคยถูกใช้เพื่อยืนยันความสำเร็จโครงการนี้ กลับมีสภาพที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้าง อุปกรณ์ไม่ได้รับการดูแล สายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจัดเก็บไม่เป็นระเบียบ

ศาลาประชาคม ถูกใช้เป็นจุดบริการนักท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เคยถูกใช้จัดโชว์เครื่องปั้นดินเผา แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม

การติดตั้งจุดบริการฟรีไวไฟ มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวบ้านที่นี่ใช้ประโยชน์ การขายเครื่องปั้นดินเผาทางออนไลน์เพิ่มรายได้ แต่ตอนนี้แทบไม่มีผู้มาใช้ไวไฟที่จุดนี้

 

ไทยพีบีเอส โทรแจ้งปัญหาสัญญาณไวไฟ เจ้าหน้าที่ สอบถามรายละเอียดแล้วรับเรื่อง ก่อนแจ้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาแก้ไข และจะติดต่อมายังผู้แจ้งปัญหาอีกครั้ง แต่ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อแจ้งเรื่องการซ่อมแซม

 

บ้านโนนทอง ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เป็น 1 ในหมู่บ้านต้นแบบ ที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐเมื่อปลายปี 2561 ปัจจุบันชาวบ้านยังเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ แต่ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาและความบันเทิง

 

รัศมีการกระจายสัญญาณไวไฟ เพียง 50 เมตร ทำให้ นายจำนงค์ มาศรี ผู้ใหญ่บ้านโนนทอง ที่มีบ้านห่างจากจุดปล่อยสัญญาณไวไฟกว่า 60 เมตร ไม่สามารถเชื่อมต่อได้ โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่มาติดตั้งเน็ตประชารัฐว่า สามารถเดินสายสัญญานจากโครงการเน็ตประชารัฐ และติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณไวไฟที่บ้าน โดยจ่ายเดือนละ 374 บาท ตั้งแต่ช่วงปลาย ปี 2561 เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอีก 5 ครอบครัว

 

 

การติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณไวไฟและการเรียกเก็บเงินค่าบริการ ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมลักษณะนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะการวางโครงข่ายเน็ตประชารัฐใช้งบประมาณแผ่นดิน และช่วงปลายปี 2561 รัฐยังไม่ได้ทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใด ให้เชื่อมต่อกับโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ตามกฎหมาย แต่สำหรับชาวบ้าน ยืนยันว่า สัญญาณเน็ตประชารัฐที่จุดบริการของหมู่บ้านเพียงจุดเดียวไม่เพียงพอ

 

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เปิดเผยผลตรวจสอบโครงการเน็ตประชารัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส งบประมาณปี 2559 วงเงิน 13,000 ล้านบาท ว่าโครงการนี้ยังไม่สะท้อนความสำเร็จตามวัตถุประสงค์

สตง.ให้ตรวจสอบกรณีมีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมบางรายเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการไปให้บริการยังบ้านเรือนประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงกำหนดส่งผลให้รัฐไม่ได้รับสิทธิหรือผลประโยชน์ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายแบบเปิดทั้งหมด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง