Q&A : นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่ -​ ครูรู้สึกแบบไหน?​ #ชุมนุมใน รร.

การเมือง
23 ส.ค. 63
12:54
26,378
Logo Thai PBS
Q&A : นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่ -​ ครูรู้สึกแบบไหน?​ #ชุมนุมใน รร.
เพราะถูกคุกคาม​ จึงต้องลุกขึ้นมาพูด​ อยากเห็นอนาคตที่ดี​ ท่ามกลางชีวิตที่สิ้นหวัง​ เหตุผลนักเรียนมัธยมฯ​ ที่กำลังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในโรงเรียน​ ครูบางส่วนพร้อมเปิดพื้นที่รับฟัง​ แต่ครูส่วนหนึ่งยังมองว่าโรงเรียนควรเป็นกลางทางการเมือง

ไทยพีบีเอสออนไลน์หยิบคำถามเดียวกันให้ "ครู - นักเรียน" ตอบ เพื่อสร้างความเข้าใจ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโรงเรียน นักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่ ครูรู้สึกอย่างไร ความสัมพันธ์ครู-ลูกศิษย์ จะนำไปสู่ปลายทางของความเข้าใจในรั้วโรงเรียนได้หรือไม่?

ถาม : เป็นนักเรียนทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

น้องบี ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : เพราะนักเรียนก็เป็นประชากรคนหนึ่งของประเทศ และยังต้องอยู่ไปอีก 20-30 ปี จะมาจมอยู่กับอะไรเดิมๆ ต่อไปไม่ได้

ผมออกไปชุมนุมนอกโรงเรียนนั่งแถวหน้าสุด แต่ถูกถ่ายภาพไปออกข่าว จนคนที่โรงเรียนรู้ แล้วมาบอกว่าผมจะจัดม็อบในโรงเรียน ทั้งที่ผมยังไม่รู้เรื่อง วันต่อมาก็มีตำรวจมาตามถึงที่บ้าน โรงเรียนไม่ออกมาปกป้องหรือพูดอะไรเลย แต่กลับเป็นคนในทวิตเตอร์ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนติดต่อมา เพื่อจะออกมาช่วยเหลือ ทำให้ผมที่เมื่อก่อนไม่คิดจะพูดอะไรแค่อยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง รู้สึกว่าอาจถึงเวลาที่ต้องเริ่มพูดบ้าง เพื่อสิทธิของตัวเอง

ถ้าถามว่ากลัวไหม ตอนแรกก็กลัว แต่ถึงแม้ว่าจะกลัว ผมก็ยังจะไปทุกม็อบที่มี

น้องนิ้ง ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.

ตอบ : เพราะการศึกษากับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้ รัฐบาลอยากได้คนแบบไหนก็ใส่เข้ามาในการศึกษา การศึกษาจะดีไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

ตั้งแต่เกิดมาปี 2547 หนูไม่เคยอยู่ในช่วงที่การเมืองเป็นปกติเลย

ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 ตอนนั้นหนูเพิ่ง 2 ขวบ ต่อมาก็มีอีกหลายครั้ง มีแต่ความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด

น้องขิม ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : สนใจการเมืองนานแล้ว แต่ที่ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้เพราะรู้สึกโกรธ อยากได้อนาคตที่หนูจะมีความหวังได้

ตอนนี้หนูสิ้นหวังมาก หนูอายุ 17 ปี ต้องใช้ชีวิตไปอีกอย่างน้อย 30 ปี รัฐบาลปัจจุบันทำให้หนูไม่มีความหวังเลย

แม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่างยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ยิ่งคนจนคนหนึ่งยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ทั้งชีวิตหนูมองทุกอย่างเป็นการเมือง เพราะการเมืองประกอบด้วยสังคม และอำนาจ โรงเรียนมีอาจารย์​กับนักเรียนย่อมเกิดเป็นสังคมและมีอำนาจ ดังนั้น เมื่อเป็นสังคมแล้วก็ไม่สามารถแยกจากเรื่องการเมืองได้

 

ครูประหยัด ไทยเสน รองผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา

ตอบ : การเคลื่อนไหวครั้งนี้ครูคิดว่ามาจากภาพการเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ เพราะรูปแบบและลักษณะการแสดงออกเหมือนกันกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกทั้งหมด ทั้งการชู 3 นิ้ว และการผูกโบว์ขาว รวมถึงการชูป้ายข้อความ เหมือนเป็นการฝังชิปให้สนใจการเมือง

ครูองอาจ ญาตินิยม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)

ตอบ : เด็กนักเรียน เข้าใจการเมืองจากการเรียนวิชาสังคมศึกษา รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่กำลังดำเนินไปกับการเรียนรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และด้วยการเติบโตมากับเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เด็กกล้าที่จะพูดและเปิดเผยทุกอย่าง ทุกเรื่องที่เป็นปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วครูบางคนก็อาจมองว่าเป็นปัญหาแต่เลือกที่จะไปพูดในที่ลับแทน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเมืองจะแทรกอยู่ในห้องเรียน

เป้าหมายในการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้

น้องบี ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดีมาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เพราะคาดหวังว่าหากมีรัฐบาลดี ชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐานก็จะดีไปด้วย ทั้งความเป็นอยู่หรือการคมนาคม

น้องนิ้ง ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.

ตอบ : ต้องการให้รัฐบาลออกมาแสดงท่าทีว่าไม่ควรมีการคุกคามนักเรียนที่แสดงออกทางการเมืองในโรงเรียน เพราะเด็กควรแสดงออกทางการเมืองได้ รวมถึงการคุกคามในสิทธิร่างกายของนักเรียนด้วยทั้งเรื่องทรงผม การแต่งกาย ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยสอนให้เด็กคิด ให้เด็กตั้งคำถาม 

น้องขิม ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : สิ่งที่สะท้อนรัฐ คือ กฎหมาย สิ่งที่สะท้อนโรงเรียน คือ กฎโรงเรียน แต่กฎโรงเรียนในปัจจุบันกลับล้ำเส้นสิทธิร่างกายของนักเรียน รวมถึงสิทธิในการแสดงออก เรามาเรียกร้องประชาธิปไตย คือการแสดงออกด้วยความหวังที่อยากเห็นสังคมดีขึ้นด้วยตัวเราเอง

ครูประหยัด ไทยเสน รองผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา

ตอบ : เด็กก็เรียกร้อง 3 ข้อ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน เหมือนกับที่เยาวชนปลดแอกเรียกร้อง


ครูองอาจ ญาตินิยม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)

ตอบ : เด็กนักเรียนออกมาชุมนุมผ่านมุมมองการชุมนุมของนักศึกษา จนมาสู่การชุมนุมด้วยตัวเอง ซึ่งบริบทอาจจะแตกต่างกัน แต่ครูสัมผัสได้ถึงการแสดงออกที่บริสุทธิ์กว่า ทั้งการชู 3 นิ้ว การใช้โบว์ขาว เป็นการแสดงออกมาเรียกร้องเพื่อให้ครูได้รับฟัง เข้าใจเขา และให้ครูได้มีความรู้สึกร่วม

เข้าใจว่า (ครู-เด็ก) คิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างไร

น้องบี ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : ครูจะคิดว่าเป็นเด็กต้องตั้งใจเรียน พ่อห้ามไปชุมนุม แม่ไม่ได้ห้ามแต่ก็ไม่ได้สนับสนุน ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ไม่รู้จักทวิตเตอร์ ไม่ได้มีการหาข้อมูล ทั้งที่ทวิตเตอร์คือเรื่องจริง คือข้อมูลที่แตกต่างและหลากหลาย แล้วผู้ใหญ่ก็เติบโตมากับการปลูกฝังข้อมูลและค่านิยมที่แตกต่างกัน

น้องนิ้ง ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.

ตอบ : ครูอาจจะมองว่าเราเป็นเด็กไม่ดี เพราะมีความเห็นที่แตกต่างจากเขา ครูโตมาในสังคมคนละแบบ โตมาในทรรศนะที่แตกต่างกัน บางคนไม่ได้เห็นถึงศักดิ์ศรี คุณค่า และความคิดของเด็กเลย เพียงเพราะคิดว่าตัวเองเกิดมาก่อน แล้วไปลดทอนคุณค่าของเด็ก อย่างเด็กแค่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็ไม่เห็นคุณค่าแล้ว

น้องขิม ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : บางกลุ่มก็ชื่นชม บางกลุ่มก็มองว่าเราหัวรุนแรง ครูบางคนก็ไม่เข้าใจเพราะไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยี เด็กรุ่นเราโตมากับโซเชียลมีเดียที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ตลอดเวลา

ครูประหยัด ไทยเสน รองผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา

ตอบ : เด็กอาจจะคิดว่าครูไม่เห็นด้วย แต่จริงๆ แล้ว กระบอกเสียงทุกกระบอกเสียงมีความสำคัญทั้งหมด แต่โรงเรียนเป็นสถานศึกษา เป็นสถานที่ราชการ ควรเป็นกลางทางการเมือง ไม่โจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในวันที่นักเรียนมาแสดงสัญลักษณ์ไม่ได้มีการขออนุญาตก่อน รวมทั้งมีการเขียนแผ่นป้ายที่สุ่มเสี่ยงด้วย จริงๆ ครูและนักเรียนไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ถ้านักเรียนขออนุญาต ทำตามขั้นตอน อยู่ในขอบเขตครูก็พร้อมสนับสนุน แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ควรจะแสดงออกในที่สาธารณะ

ครูองอาจ ญาตินิยม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)

ตอบ : ผู้ปกครองบางคนบอกว่าคนในอนาคตกำลังมาทวงอนาคตของเขาคืน ครูเองก็มองว่าแบบนั้นนะ แต่ครูบางคนก็คาดไม่ถึงกับสถานการณ์นี้เหมือนกัน ครูบางคนก็ไม่ได้เข้าใจความคิดทางการเมืองของเด็ก เพราะเขาไม่รู้ว่าช่องทางการสื่อสารของเด็กสมัยนี้พัฒนาไปไกลขนาดไหนช่องทางการสื่อสารที่ต่างกัน โครงการสร้างสังคมแบบเก่าและแบบใหม่ ทำให้ครูบางคนมองว่าเด็กแก่แดด ใช้คำพูดที่ไม่กลั่นกรอง

ต้องยอมรับว่า ในสังคมครูยังมีเรื่องวิทยฐานะ ทำให้ครูหลายคนต้องระวังท่าที​ ซึ่งครูบางส่วนก็รอดูท่าทีจากกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกัน​

เมื่อกระทรวงออกมาบอกให้เปิดพื้นที่ ครูหลายคนอาจจะผ่อนคลายมากขึ้น

ปลายทางการเคลื่อนไหวจะเป็นอย่างไร

น้องบี ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : คิดว่าจะสำเร็จ เพราะถ้าทุกคนช่วยกันก็จะเห็นประเทศพัฒนาได้ แม้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ก็ดีกว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย

น้องนิ้ง ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.

ตอบ : สิ่งที่หวังไว้คือ ถ้าการเมืองดีการศึกษาก็จะดีไปด้วย หนูอยากเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ลดลง

ถ้าการศึกษาในต่างจังหวัดและ กทม.เสมอภาคกัน เราจะไม่เห็นภาพเด็กนักเรียนต่างจังหวัดที่ต้องดั้นด้นสอบเข้ามาเรียนใน กทม.

เด็กทุกคนควรได้เรียนใกล้บ้าน และควรเติบโตมาด้วยการเป็นพลเมืองที่กล้าตั้งคาถาม และยอมรับความเห็นต่างของเพื่อนมนุษย์​ หนูรู้ว่าทุกอย่างที่พูดมาต้องใช้เวลา แต่สักวันจะต้องเป็นจริงแน่นอน

น้องขิม ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : หนูอยากได้ประชาธิปไตย อยากให้มีรัฐบาลที่ดีกว่านี้ และคาดหวังจะให้ได้รับทั้ง 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน รวมถึง 1 ความฝัน หรือ 10 ข้อเรียกร้องด้วย

หนูคิดว่าทุกอย่างไม่ควรเป็นความฝัน ถึงแม้มันจะเป็นจริงไม่ได้ในวันพรุ่งนี้ แต่ทุกอย่างต้องรอเวลาแล้วมันจะสำเร็จเอง

ครูประหยัด ไทยเสน รองผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา

ตอบ : นักเรียนมีวิธีคิด มีสิทธิทางการเมือง​ เมื่อลองคุยกับเด็กว่าความหวังคืออะไร

เขาก็บอกว่าเป็นความหวังอยากจะเห็นประเทศไทยดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าดีขึ้นในเรื่องอะไร​ ร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ทั้งหมดหรือแก้ที่ข้อไหน​ยังไม่ชัดเจน

จึงคิดว่าการดำเนินการครั้งนี้นักเรียนอาจกลายเป็นฐานการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง​ ถ้าเด็กออกมาทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ​ ตามสิทธิทางการเมืองของเขาก็เป็นเรื่องปกติ

ครูองอาจ ญาตินิยม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)

ตอบ :

จริงๆ ครูมองว่าเด็กๆ ประสบความสำเร็จในการออกมาเคลื่อนไหวแล้ว เพราะครูหลายคนเริ่มคิดว่าจะมองเพื่อปรับโลกทัศน์หรืออยู่ในรูปแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ อีกไม่กี่ปีเด็กนักเรียนเหล่านี้ก็จะอายุ 18 ปี เมื่อเขามีสิทธิเลือกตั้งก็จะกลายเป็นพลังใหม่ที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้

คิดว่าทำอย่างไรนักเรียนกับครูจะเข้าใจกันได้

น้องบี ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : ขอให้ฟังกันบ้าง

น้องนิ้ง ม.4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.

ตอบ :

เราไม่ได้ต้องการให้มาเข้าใจจนต้องมาอยู่ฝั่งเดียวกัน แต่อยากให้ฟังกันบ้าง

ขอให้ช่วยเปิดใจรับฟัง หนูเข้าใจว่าครูโตมาในสังคมที่ครูถูกเชิดชู ได้รับการยอมรับ และเป็นสังคมที่ห้ามเถียง ห้ามคิดต่าง แต่ตอนนี้เด็กควรมีสิทธิตั้งคำถาม มีสิทธิได้พูด ขอให้ครูช่วยรับฟังและให้คุณค่ากับเสียงของนักเรียนด้วย

น้องขิม ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอบ : หนูเป็นคนที่ไปบอกครูว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองในโรงเรียนในเชิงเสวนา แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร ครูก็อนุญาตแม้ว่าจะแสดงความกังวล ซึ่งสิ่งที่หนูทำคือ การจัดชุมนุมโต๊ะน้ำชา ใครที่อยากเข้าร่วมก็ให้ผูกโบว์ขาว หรือนั่งชู 3 นิ้วแบบเรียบร้อย

ทุกอย่างเราทำแบบน่ารักมากและสันติสุดๆ ก็ทำให้ครูยอมรับและมีท่าทีที่ฟังเรามากขึ้น

ในวันนั้นหนูได้พูดถึงความต้องการของนักเรียนในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และเสนอแนวคิด รวมถึงพูดถึงกฎต่างๆ ของโรงเรียน ครูหลายคนก็รับฟังและบอกด้วยว่าอะไรปรับได้ก็พร้อมจะปรับ

ส่วนหนูได้ฟังครูพูดก็เข้าใจว่าอะไรบ้างที่ทำไม่ได้หรือยังไม่ถึงเวลา เพราะต้องยอมรับว่าโรงเรียนหนูเป็นโรงเรียนรัฐที่ยังอยู่ในระบบ ดังนั้นหากจะแก้อะไรก็ต้องเป็นไปตามระบบ ต้องแก้จากข้างบนก่อน

ครูประหยัด ไทยเสน รองผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา

ตอบ : ครูต้องเข้าใจวิธีคิดของเด็ก และต้องมีการเรียนการสอนที่เปิดโลกทัศน์ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น และทำให้ได้รู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้​ หรือขอบเขตอยู่ตรงไหน

ครูองอาจ ญาตินิยม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)

ตอบ : โรงเรียนเป็นพื้นที่ให้ความรู้ ครูไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะมาปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน

เพราะยิ่งเราปิดกั้นมากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับเรากำลังผลักลูกศิษย์ตัวเองลงไปบนถนน

ซึ่งจะไม่สามารถควบคุมหรือดูแลความปลอดภัยนักเรียนได้ ดังนั้น อะไรที่ปรับได้เราก็ปรับ อย่างที่โรงเรียนเองก็มีการเปิดเวทีพูดคุยและรับฟังกัน นักเรียนก็ได้บอกสิ่งที่คิดและความต้องการ

ส่วนครูก็รับฟัง อะไรที่ปรับได้หรือทำได้ทันทีก็พร้อมทำ ส่วนไหนที่ทำไม่ได้ก็ต้องมาคุยกันอีกครั้ง โดยล่าสุด ได้มีการตกลงกันว่าจะเปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมร่างกฎโรงเรียนอย่างเต็มที่

ครูคิดว่าถ้าเรารับฟังความเห็นต่างก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ และคิดว่าโรงเรียนอื่นๆ ก็น่าจะไม่เกิดความขัดแย้งถ้าทั้งครูและนักเรียนรับฟังซึ่งกันและกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม​ จากการพูดคุยกับทั้งครูและนักเรียน​ จะเห็นได้ว่า​ ความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างครูกับนักเรียนอาจขึ้นจากประสบการณ์​ ช่องทางการสื่​อสาร​ การรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกัน​ สุดท้าย​ นักเรียนส่วนใหญ่ก็ต้องการเพียงครูเปิดใจรับฟังบ้าง​ ส่วนครูก็ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน​ และรอความชัดเจนจากกระทรวงศึกษาธิการ​ 

เมื่อทั้ง​ 2​ ฝ่าย​ เปิดใจรับฟังกัน​ ความเข้าใจก็จะมีมากขึ้น​ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้​ ซึ่งบางโรงเรียนได้เริ่มขยับเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดทางการเมือง​ระหว่างครูกับนักเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไร้ความขัดแย้งแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง