"คุ้มเวียงแก้ว" ความสำคัญในอดีต สู่การใช้พื้นที่ขนาดใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่

ภูมิภาค
24 ส.ค. 63
11:03
10,836
Logo Thai PBS
"คุ้มเวียงแก้ว" ความสำคัญในอดีต สู่การใช้พื้นที่ขนาดใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่

 

เวียงแก้ว พระราชวังของราชวงศ์มังราย ปกครองเมืองเชียงใหม่ในยุคล้านนา และเป็นเรือนจำมณฑลพายัพในอดีต ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพื้นที่ทับซ้อนช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญ 2 ช่วง คือ ล้านนา กับช่วงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 5 

 

สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากร ที่ 7 เชียงใหม่ บอกเล่า เรื่องราวที่มา และความสำคัญของคุ้มเวียงแก้ว ว่า หากย้อนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ของแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ ที่ทำขึ้นเมื่อพ.ศ.2436

จะเห็นขอบเขตของพื้นที่ แบ่งพื้นที่เป็นเขตชั้นนอก และชั้นใน มีตัวหนังสือเขียนข้างในว่า “เวียงแก้ว” เป็นจุดเริ่มต้นการค้นหาความสำคัญของพื้นที่ และในเอกสารตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เขียนถึงพระราชวังหลวงพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา ระบุว่า สร้างวังด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดเชียงมั่น(วัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่)

หากเปรียบเทียบในเชิงทิศทางพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จึงน่าจะเป็นพื้นที่พระราชวังของพญามังรายในอดีต

ภาพ : หลักฐานแผนที่นครเชียงใหม่โบราณ ที่ทำขึ้นปี 2436 ปรากฏขอบเขตพื้นที่มีลักษณะรูปแบบคล้ายวัง (มีการแบ่งส่วนชั้นนอก ชั้นใน ซึ่งตรงกลางระบุชื่อว่า “เวียงแก้ว”

 

โครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิง ให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ จึงมีความจำเป็น ต้องมีการดำเนินการพื้นที่ เพื่อขุดค้นหาร่องรอย ทางโบราณคดี ของพระราชวังสมัยพญามังราย และคงไว้อาคารยุคสมัยหนึ่งของอาคารเรือนจำสมัยมณฑลพายัพ

การขุดค้นล่าสุด มีความคืบหน้าประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ พบหลักฐานสำคัญ คือ แนวกำแพง ของเวียงแก้วตามที่แผนที่โบราณระบุไว้ โดยพบแนวกำแพงทางทิศใต้ และทิศตะวันตก และพบอาคารที่เป็นฐานรากของอาคารยุคล้านนา

จากการหาค่ายุคทางวิทยาศาสตร์ วิธีการเทียบเคียงกับโบราณวัตถุที่พบ นำอิฐ และเศษถ่านในชั้นดิน ได้ค่าอายุการใช้งานด้านในของเวียงแก้ว ค่าอายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ 20-21 หรือ ราว พ.ศ.2000-2100 หรือเทียบยุคสมัยคือ พญาติโลกราช ถึง พญาเกษเมืองแก้ว

ส่วนค่าอิฐกำแพงเวียงแก้ว ได้ค่า พ.ศ.2200 กว่าๆ ใกล้กับช่วงที่ล้านนา จะถูกยึดจากรัตนโกสินทร์จากพม่าได้ ดังนั้นจึงสรุปอายุสมัยคร่าวๆ ในปัจจุบันในการใช้งานของเวียงแก้ว น่าจะมีอย่างน้อยในสมัยล้านนาช่วงกลาง และน่าจะมีการใช้งานต่อเนื่องมาเป็นพระราชวังปลายสมัยล้านนา และต้นสมัยรัตนโกสินทร์

ภาพ : การขุดค้นทางโบราณคดี จุดที่พบแนวกำแพงของเวียงแก้ว ตามที่แผนที่โบราณระบุไว้ โดยพบแนวกำแพงทางทิศใต้ และทิศตะวันตก และพบอาคารที่เป็นฐานรากของอาคารยุคล้านนา

 

คุ้มเวียงแก้วน่าจะมีการใช้พื้นที่ต่อเนื่อง ตามเอกสารประวัติศาสตร์พระยากาวิละมาฟื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการฟื้นเมืองเชียงใหม่ สมัยรัชกาลที่ 1 น่าจะมีการใช้พื้นที่พระราชวังเดิมอีกครั้ง

ส่วนการเป็นเรือนจำของมณฑลพายัพ ในยุคนั้น รัชกาลที่ 5 ต้องการปรับปรุงระบบเกี่ยวกับการศาล และกระบวนการยุติธรรม รวมถึงงานราชทัณฑ์

สมัยนั้นจึงมีงานหลายอย่างที่ต้องเร่งปรับปรุง เช่น การออกพระราชบัญญัติเรือนจำ พ.ศ.2440 การจัดสร้างเรือนจำที่มีความทันสมัย ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ เรือนจำของจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีขนาดใหญ่ และมีความสวยงาม

สมัยก่อนประเทศไทยไม่มีเรือนจำ จึงสร้างเรือนจำขึ้นในมณฑลพายัพในปี พ.ศ.2451-2452 พร้อมๆ กับเรือนจำในจังหวัดเชียงราย คุมขังชาวต่างชาติ เนื่องจากมีการบันทึกการเข้ามาของต่างชาติ

ความสำคัญของเรือนจำในพื้นที่ ด้วยอายุของอาคาร และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการกิจการศาล และกระบวนการยุติธรรม และด้วยตัวของอาคารที่ใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก ตัวผนังอาคารจะหนา 50 ซม. แต่ก่อนไม่มีระบบคานรับน้ำหนัก เรือนจำมณฑลพายัพ จึงเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอีกยุคสมัยหนึ่ง

นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากร ที่ 7 เชียงใหม่ ระบุว่า การใช้ประโยชน์พื้นที่ ต้องมองให้เข้าไปถึงคุณค่าหลักในพื้นที่ คือ พระราชวังเดิม กับการให้เป็นพื้นที่สาธารณะ

และยังเคยเป็นพื้นที่เกี่ยวกับพัฒนาการศาล และกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในภาคเหนือ มีความจำเป็นต้องนำคุณค่าหลักทั้ง 3 อันมารวมกัน นำเสนอออกมาให้แต่ละอันไม่ลดทอนคุณค่าของแต่ละอัน

เช่น การต้องการให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เป็นสิ่งที่กรมศิลปากรยืนยันกับภาคประชาชน แม้จะขุดพบโบราณสถาน แต่ไม่เคยคิดจะทำให้เป็นพื้นที่โบราณสถานเพียงอย่างเดียว โดยสาธารณะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

ยังคงหลักการพื้นที่ยังเป็นสวนสาธารณะของเมือง ซึ่งจำเป็นต้องนำเสนอคุณค่าที่แท้จริงของพื้นที่เดิม และมีอาคารบางส่วน ในสมัยหลังที่แสดงถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

ภาพ : อาคารเรือนจำมณฑลพายัพที่กรมศิลปากรมีข้อพิจารณาให้เก็บรักษา (ในกรอบสีแดง) ประกอบด้วย อาคารเรือนเพ็ญ อาคารบัญชาการ และอาคารแว่นแก้ว ป้อมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

 

ภาพ : ภาพปัจจุบันอาคารที่ยังคงอนุรักษ์ไว้

ด้านเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ แม้จะมองเห็นตรงกันว่าการพัฒนาพื้นที่คุ้มเวียงแก้ว ให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ แต่การคงไว้อาคารทัณฑสถานเก่าที่มีความทรุดโทรม จึงอยากให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดตามการประชาพิจารณ์ภาคประชาชน และตามแบบการก่อสร้างที่ชนะการประมูล

ขณะที่ข้อกังวลอีกอย่างหนึ่งของภาคประชาชน คือ งบประมาณการก่อสร้างที่ติดปัญหาความล่าช้าการตรวจสอบทำให้งบประมาณถูกดึงกลับเมื่อปี 2555-2556 ปัจจุบันจึงต้องใช้งบประมาณเหลือจ่ายแต่ละปีจากสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ และมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง


ยืนยันพื้นที่จะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนการคงพื้นที่ไว้บางส่วน อาคาร 3 หลัง และกำแพง จะมีการปรับแบบ แต่ต่อไปในอนาคต การมีอยู่ของอาคาร ไม่มีผลต่อพื้นที่ ความทรุดโทรมที่มีอยู่ ต่อไปในอนาคตอาจจะเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อรื้อถอนหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามโครงการฯ วันที่ 7-8 มี.ค.63 มีข้อเสนอให้เร่งรื้อถอนอาคารโดยเฉพาะกำแพงทัณฑสถานที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นทัณฑสถาน และขอให้จังหวัดเชียงใหม่เร่งประสานงานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อนำงบประมาณดำเนินการกลับคืนมา

ล่าสุดมีการรื้อถอนอาคาร ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2563 ขั้นตอนต่อไป สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะขุดแต่งโบราณคดี เพื่อส่งให้จังหวัดปรับแบบก่อสร้าง “คุ้มเวียงแก้ว”

 

สำหรับโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สี่เหลี่ยมกลางเมืองเชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันที่มีประมาณ 14 ไร่ โดยก่อสร้างด้วยงบประมาณ 95 ล้านบาท โดยเริ่มโครงการวันที่ 15 ก.ค.2563 - 25 ก.ค.2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 660 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง