แนะเลิกใช้ "น้ำดื่มแก้วพลาสติก" พัดเกลื่อนอ่าวมาหยา

สิ่งแวดล้อม
25 ส.ค. 63
10:31
773
Logo Thai PBS
แนะเลิกใช้ "น้ำดื่มแก้วพลาสติก" พัดเกลื่อนอ่าวมาหยา
เพจเฟซบุ๊ก ReReef เผยภาพน้ำบรรจุแก้วพลาสติกแบบที่ต้องใช้หลอดจิ้มดูด ถูกพัดขึ้นมาบริเวณอ่าวมาหยา อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ แนะเลิกผลิตเลิกใช้ ขณะที่กองทัพเรือ เผยภาพหนังยาง อวนอยู่ในซากเต่ากระเกยตื้นตายชายหาด จ.ชลบุรี

วันนี้ (25 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก ReReef เผยภาพบริเวณอ่าวมาหยา จ.กระบี่ ระบุข้อความว่า พลาสติกบางอย่างเกิดมาเพื่อถูกทิ้งและสร้างปัญหาจริงๆ เพราะขนาดเล็ก น้ำหนักเบา จัดเก็บยาก จึงกลายเป็นขยะสะสมในสิ่งแวดล้อม และกระจายไปได้ไกลมาก

"น้ำบรรจุแก้วพลาสติก" แบบที่ต้องใช้หลอดจิ้มดูด เป็นนวัตกรรมอำนวยความสะดวกที่สร้างขยะมากมายจริงๆ และกลายเป็นไอเทมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทัวร์ทางทะเล ความจริงควรถึงเวลาต้องแบนและห้ามใช้ได้แล้ว

ถ้าบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ ไม่สามารถจัดเก็บและนำมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางออกที่ดีที่สุดคือเลิกผลิต เลิกใช้ เลิกผลิตและปรับเปลี่ยนวัสดุไปเลย ไม่อย่างนั้นหาดที่สวยระดับโลก   อย่างอ่าวมาหยา ก็หนีไม่พ้นขยะสิ้นคิดแบบนี้ เพราะถูกพัดพามาจากที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นภาระให้เจ้าหน้าที่ต้องมาตามเก็บไม่รู้จักจบ

 

 

เต่ากระกินขยะตายชายหาดชลบุรี

ขณะที่เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ได้รับแจ้งจากนักศึกษา แผนกวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชลบุรี ว่าพบเต่าทะเลเกยตื้นบริเวณชายหาดบ้าน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งรับเข้ามาตรวจพิสูจน์ซากพบว่าเป็นซากเต่ากระ ตัวผู้อายุประมาณ 1 ปี ไม่พบเลขรหัสไมโครชิพ สภาพซากเน่ามากสภาพภายนอก พบมีการหลุดของเกล็ดภายนอก ร่างกายบวมพอง ซึ่งเกิดจากขบวนการการแปรสภาพซากเน่าส่วนคอด้านล่างมีร่องรอยบาดแผลเน่า รูทวารบวมพอง

เนื่องจากสภาพซากเน่ามาก และมีการแปรสภาพอวัยวะภายในทุกส่วน จึงไม่สามารถหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ แต่เมื่อเปิดผ่าระบบทางเดินอาหาร พบขยะทะเล เช่น หนังยาง และเชือกอวนไนล่อน จำนวนหนึ่ง

 

ทั้งนี้เพจ ReReef ระบุว่าสถานการณ์หลัง COVID-19 ปัญหาขยะพลาสติกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างมาก เราจะทำอย่างไรกับขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวันวันละกว่าหมื่นตัน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะอย่างเกาะสมุย ก็มีขยะเกิดขึ้นกว่า 150 ตันในแต่ละวัน การแก้ปัญหาแบบไหนจึงจะเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ที่วิกฤตขึ้นทุกวัน

โดยจะมีการพูดคุยเรื่องขยะพลาสติกหลัง COVID-19 และวาง Roadmap สู่การตัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน มีวิทยากร เช่น ดร. วิจารย์ ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผอ.โครงการ CHULA Zero Waste และสถาบันวิจัยสภาพแวดล้อม จุฬาฯ ตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ และองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่าง Greenpeace Thailand  โดยจัดงานวันที่  26 ส.ค.นี้ ที่ SEA-Junction หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร 10.00-12.30 น.ชมถ่ายทอดทาง Facebook Live ได้ทาง Bangkok Tribune News และเพจ ReReef 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง