นำร่องใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีต-หลักนำทางยางธรรมชาติ นำร่อง 200 กม.

เศรษฐกิจ
25 ส.ค. 63
18:29
8,658
Logo Thai PBS
นำร่องใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีต-หลักนำทางยางธรรมชาติ นำร่อง 200 กม.
นำร่องใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีต-หลักนำทางยางธรรมชาติ เริ่มเฟสแรก 200 กม. ประเดิมอัดงบประมาณกว่า 3 ล้านบาท นำร่องเส้นทางเชื่อมเขาคิชฌกูฏ 400 ม. ก่อนขยายไป “สตูล-บึงกาฬ” ฟาก ทช. แปลงงบ-งบเหลือเบิกจ่าย ผลิตแท่งคอนกรีต 100 กม. จ่อของบปี 64 ซื้อแผ่นยางหุ้ม

วันนี้ (25 ส.ค.63) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้นำร่องนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยการใช้ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) มาติดตั้งบนถนน ทางหลวงหมายเลข 3249 ตอนเขาไร่ยา-แพร่งขาหยั่ง อ.เมืองจันทบุรี หรือ ถนนบำราศนราดูร จันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ช่วงก่อนถึงโค้งวัดชำโสม ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ เป็นเกาะสี ระยะทาง 400 ม. วงเงินประมาณ 2-3 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย และเพิ่มการผลิตให้กับชาวสวนยางด้วย

 

สำหรับเส้นทางถนนทางหลวงหมายเลข 3249 ที่ ทล.นำร่องใช้ RFB ดังกล่าวนั้น มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ชาวสวนยาง จ.จันทบุรี และถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเส้นทางดังกล่าวนั้น มีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวไปยังเขาคิชฌกูฏเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก ประกอบกับเป็นทางโค้ง และมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้รถวิ่งข้ามเลน นำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

 

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ตามแผนงานของ ทล.ในปี 2563 ระยะแรกนั้น มีแผนที่จะใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต บริเวณถนนที่ทีเกาะสี และเกาะร่อง ระยะทางประมาณ 200 กม. จากถนนที่มีอยู่ในแผน 3 ปี (2563-2565) รวมระยะทาง 1,029 กม. อย่างไรก็ตาม หลังจากการนำร่องที่ จ.จันทบุรีในวันนี้จะขยายดำเนินการไปที่ จ.สตูล และ จ.บึงกาฟ ต่อไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินการของ ทล.นั้นภายหลังจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราตรงกับชุมนุมสหกรณ์ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.ระยอง ในวันนี้นั้นที่ประชุม ครม.ยังได้มีมติอนุมัติงบกลางประจำปี 2563-2564 วงเงิน 2,700 ล้านบาท เพื่อในการผลิต RFB และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) พร้อมนำมาใช้บนถนนของ ทล.วงเงิน 1,700 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 1,000 ล้านบาท

 

รายงานข่าวจาก ทล.ระบุว่า ตามแผนงานในปี 2563 ทล. มีความต้องการใช้เสาหลักนำทาง จำนวน 89,000 - 90,000 ต้น ซึ่งต้องผลิตให้แล้วเสร็จภายใน ก.ย.2563 ขณะที่แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตจะดำเนินการบนถนน 19 สายทาง 26 ช่วง ใน 13 จังหวัด เบื้องต้นจะดำเนินการบนถนนที่เป็นเกาะสี และถนนที่มีเกาะเป็นร่องกลาง เน้นเลือกเส้นทางที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง รวมถึงดำเนินการเกาะกลางถนนที่เป็นเกาะยก ที่มีสภาพความไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายรถเสียหลัก

 

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในส่วนแผนการดำเนินการในปีนี้ (2563) ของ ทช.นั้นจะนำงบประมาณจากการเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนของการจัดซื้อแอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (Natural Rubber Modified Asphalt Cement) หรือ พาราเอซี ให้เหลือแค่แอสฟัลต์คอนกรีต (Asphalt Concrete) หรือ เอซี วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท และงบเหลือจากการเบิกจ่ายมาผลิตแท่งคอนกรีตก่อน ใช้บนถนนที่มีเกาะสี ระยะทางประมาณ 100 กม.ใน 15 จังหวัด 16 เส้นทาง 

จากนั้นในปี 2564 จะจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อแผ่นยางหุ้มครอบคอนกรีตอีกครั้ง ในส่วนของเสาหลักนำทางยางพารานั้น ในปีนี้จะดำเนินการจำนวน 200,000 ต้น ขณะที่ งบกลางตามที่ ครม.มีมติอนุมัตินั้นจะต้องไปประสานกับสำนักงบประมาณอีกครั้งว่าจะนำมาดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ทช.จะใช้หลักด้านความปลอดภัยมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณารวมถึงเส้นทางที่มีปริมาณรถเยอะ

นายปฐม กล่าวต่ออีกว่า นโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำยางพารามาใช้เป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสร้างเสถียรภาพราคายางพาราอย่างยั่งยืน ทช.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้มีการศึกษาและวิจัยพบว่ามี 2 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ที่มีความเหมาะสม กับการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมากสามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้

 

สำหรับแผนการดำเนินโครงการดังกล่าว ระยะ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2563-2565) โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางพาราได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ตามกรอบแผนงานที่ดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ จะนำมาใช้ถนนของ ทล. และ ทช. กว่า 12,000 กม. วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ถนนของ ทล.11,000 กว่ากม. และถนน ทช. 1,000 กว่า กม. และหลักนำทางยางธรรมชาติ 1,063,651 ต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง