ไทยผ่านเกณฑ์ "ทูน่ายั่งยืน" ระดับดีแค่ 1 แบรนด์

สิ่งแวดล้อม
26 ส.ค. 63
15:29
4,479
Logo Thai PBS
ไทยผ่านเกณฑ์ "ทูน่ายั่งยืน" ระดับดีแค่ 1 แบรนด์
"กรีนพีซ "เปิดรายงานการจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2563 สำรวจแบรนด์ทูน่าใน 3 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อิงเกณฑ์ประมงยั่งยืนไม่จับปลาผิดกฎหมาย พบแบรนด์ไทยเข้าเกณฑ์ระดับดีเพียง 1 ยี่ห้อ

กรีนพีซประเมินแบรนด์ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นของประเทศไทย 7 แบรนด์ อินโดนีเซีย 6 แบรนด์ และฟิลิปปินส์ 7 แบรนด์ ถึงความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบย้อนกลับ และความยั่งยืนในการจัดหาปลาทูน่า

หลังจากพบข้อมูลว่า จำนวนปลาทูน่าทั่วโลกยังคงถูกคุกคามจากการประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Unreported and Unregulated fishing – IUU) โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานบังคับ บนเรือประมงที่ลอยลำอยู่กลางทะเลในน่านน้ำสากล

โดยหลักเกณฑ์การประเมินมี 7 ข้อ ได้แก่ ความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบ ร้อยละ 20 ความชอบด้วยกฎหมาย ร้อยละ 20 นโยบายจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ร้อยละ 20 ความสามารถตรวจสอบย้อนกลับ ร้อยละ 15  การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10 ความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ร้อยละ 7.5 และความเป็นธรรม ร้อยละ 5

ผลประเมินพบว่ามีเพียง 4 จาก 20 แบรนด์ที่มีคะแนนรวมในอยู่ระดับดี อันดับหนึ่งได้แก่ พีที. ชิตราราชา อัมพัต แคนนิง ประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือ ซูเปอร์ ซี เชฟ ประเทศไทย อันดับสามคือ อลิอันซ์ ซีเล็ค ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศฟิลิปปินส์ และอันดับสี่คือ พีที. สมุทรา มันดริี เซนโตซ่า ประเทศอินโดนีเซีย

 

ส่วนผลการประเมินโดยรวม พบว่าบริษัทส่วนใหญ่เปลี่ยนการจัดหาวัตถุดิบจากเรือที่ใช้อวนล้อมจับ มาเป็นการจับปลาด้วยวิธีที่ยั่งยืนกว่า เช่น อวนล้อมจับแบบไม่ใช้เครื่องมือล่อปลา เบ็ดมือ และเบ็ดตวัด มีบริษัท 9 แห่ง จัดหาวัตถุดิบจากเรือเบ็ดตวัด ในขณะที่อีก 12 บริษัทใช้วัตถุดิบจากเรืออวนล้อมแบบไม่ใช้เครื่องมือล่อปลา มีเพียง 6 บริษัทเท่านั้นที่ใช้วัตถุดิบปลาทูน่าจากเรือเบ็ดมือ ส่วนบริษัท 14 แห่งยังคงจัดหาวัตถุดิบจากเรืออวนล้อมที่ไม่มีข้อกำหนดห้ามใช้เครื่องมือล่อปลา (FAD) และยังมีอีกหนึ่งบริษัทที่ใช้ปลาจากการจับด้วยเบ็ดราว

สำหรับการเลือกใช้ชนิดปลานั้น มี 18 บริษัทใช้ปลาทูน่าท้องแถบ 16 บริษัทใช้ปลาทูน่าครีบเหลือง  5 บริษัทใช้ปลาทูน่าตาโต  3 บริษัทใช้ปลาโอดำ และอีก 4 บริษัทใช้ปลาทูน่าครีบยาวทั้งนี้ ตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) ระบุว่า ปลาทูน่าตาโต อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable) ขณะที่ปลาทูน่าครีบเหลืองและทูน่าครีบยาว อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ (NT–Near Threatened)

เปิดคะแนน 9 แบรนด์ทูน่าไทย 

แม้ไทยจะไม่ได้เป็นต้นทางและประเทศผู้บริโภคทูน่าเป็นลำดับต้นๆ แต่ไทยก็เป็นประเทศผู้นำด้านการส่งออกทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป อันดับ 1 ในตลาดโลก ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ระบุว่า แค่ครึ่งปี 2563 ประเทศไทยส่งออกทูน่ากระป๋องมากถึง 295,131 ตัน คิดเป็นมูลค่า 37,453 ล้านบาท การเฝ้าระวังและติดตามอุตสาหกรรมทูน่าของไทย จึงมีความสำคัญต่อความพยายามแก้ปัญหาการทำประมงทำลายล้างและการละเมิดสิทธิแรงงานด้วยเช่นกัน

จากการสำรวจแบรนด์ทูน่ากระป๋องในประเทศไทยจำนวน 9 แบรนด์ มีเพียง 1 ยี่ห้อเท่านั้น ได้แก่ “ซูเปอร์ ซี เชฟ” ที่ผลิตโดยบริษัท Sea Value PLC ที่มีคะแนนในเกณฑ์ดี โดยได้ 72.48 คะแนน เป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 20 แบรนด์ โดยทั้ง 9 แบรนด์ของไทยมีอันดับคะแนน ดังนี้

  • ซูเปอร์ ซี เชฟ ของบริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ได้ 72.48 คะแนน
  • เอโร่ ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริหารงานภายใต้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผลิตโดย บริษัท พัทยา ฟู้ด อินดัสตรี จำกัด ได้ 66.12 คะแนน
  • นอติลุส ผลิตและเป็นเจ้าของโดย บริษัท พัทยา ฟู้ด อินดัสตรี จำกัด ได้ 60.84 คะแนน
  • ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ผลิตโดย บริษัท ไทย ยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ 58.72 คะแนน
  • ซีเล็ค ทูน่า ผลิตและเป็นเจ้าของโดย บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ 54.27 คะแนน
  • อะยัม ผลิตโดย บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ 53.77 คะแนน
  • เทสโก้ –โลตัส ผลิตโดยโรงงานของบริษัท ยูนิคอร์ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ซี แวลู จำกัด
    ได้ 45.06 คะแนน
  • ทีซีบี แบรนด์ของบริษัท ทรอปิคอลแคนนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน ได้ 45.06 คะแนน
  • โรซ่า แบรนด์ของบริษัท ไฮคิว ฟู้ด ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ 37.72 คะแนน

7 ข้อเสนออุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืนและเป็นธรรม 

ที่ผ่านมา กรีนพีซพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม จากอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่ขาดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และคุกคามสิ่งแวดล้อม ไปสู่การประมงขนาดเล็กโดยชุมชน การประมงที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เจาะจงชนิดปลาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปกป้องวิถีชีวิตของชาวประมง สิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

โดยเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น กรีนพีซมีข้อเสนอแนะต่ออุตสาหกรรมประมง 7 ข้อ ได้แก่ บริษัทควรใช้ปลาที่มาจากการจับด้วยอุปกรณ์ที่ยั่งยืน เช่น เบ็ดตวัด เบ็ดมือ และอวนล้อมที่ไม่ใช้เครื่องมือล่อปลา (FAD) เพื่อหลีกเลี่ยงการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย รวมทั้งบริษัทต้องหลีกเลี่ยงการจัดซื้อปลาจากแหล่งที่ทราบว่าทำประมงเกินขนาด

บริษัทควรยึดมั่นในหลักความรับผิดชอบขององค์กรเพื่อแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยแนะนำให้บริษัทเจ้าของแบรนด์พัฒนาแพลตฟอร์มให้แรงงานประมงสามารถร้องเรียนการบังคับใช้แรงงาน

บริษัทควรพิจารณาการจัดซื้อปลา จากแหล่งที่ไม่ใช้การขนถ่ายสินค้ากลางทะเล และจากเรือที่อยู่กลางทะเลไม่เกิน 3 เดือนก่อนที่จะกลับเข้าฝั่ง โดยทำการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ลูกเรือได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งได้อย่างเป็นอิสระไม่น้อยกว่า 10 วัน บริษัทควรทำการตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่จับปลา เรือประมงที่ใช้ และวิธีการตกปลา โดยผู้ตรวจสอบที่เชื่อถือได้ และบริษัทต้องให้ข้อมูลดังกล่าวบนฉลากสินค้าเพื่อแสดงตัวเลือกที่ยั่งยืนให้กับผู้บริโภค

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง