ร้าวอีกรอบ ? เพื่อไทย-ก้าวไกล แก้รัฐธรรมนูญป่วน

การเมือง
27 ส.ค. 63
07:23
504
Logo Thai PBS
ร้าวอีกรอบ ? เพื่อไทย-ก้าวไกล แก้รัฐธรรมนูญป่วน
ธงนำแก้ รธน. ไม่เป็นเอกภาพ เมื่อ เพื่อไทย-ก้าวไกล แยกญัตติแก้ไข รธน. ซึ่งทำให้วิธีการและผลลัพธ์การแก้ไข รธน. ต่างกัน ด้านหนึ่งอาจถูกมองเป็นความขัดแย้งแตกแยกหรือความล้มเหลวทางการเมืองซึ่งเคยถูกใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร

ชนวนเหตุเริ่มที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไข มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ โดยไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์

แต่ พรรคก้าวไกล เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แบบไม่มีข้อจำกัด พร้อมขีดเส้นใต้ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." ไปพร้อมกัน นั่นคือการพุ่งเป้าไปที่การยกเลิก มาตรา 269-272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว. โดยเฉพาะ มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ

ข้อจำกัดของ พรรคก้าวไกล คือ มีเสียง ส.ส.เพียง 54 คน ขณะที่การยื่นญัตติต้องใช้ ส.ส. 98 คน จึงต้องขอเสียงพรรคอื่นช่วยด้วย ซึ่งไม่มีข้อแม้ในสภาฯ หาก ส.ส.พรรคอื่นได้เคยร่วมลงชื่อยื่นญัตติกับพรรคเพื่อไทยไปแล้วจะร่วมลงชื่อในญัตติของพรรคก้าวไกล เพราะเมื่อหลักการต่างกันก็เข้าชื่อซ้ำอีกได้

ต่อมา พรรคเพื่อไทย ประชุมใหญ่มีมติ "เกือบ" เอกฉันท์ คือ 99.99 % "ไม่ร่วม" ลงชื่อยื่นญัตติกับพรรคก้าวไกล เพราะเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา "ปิดสวิตซ์ ส.ว." และไม่อยากคิดแทนประชาชน (นัยว่าให้ ส.ส.ร.ที่ตั้งมาเป็นคนตัดสินใจว่าจะแก้ไขเรื่องใด)

เรื่องนี้ทำให้ คณะประชาชนปลดแอก ไม่พอใจ เพราะญัตติของ พรรคก้าวไกล น่าจะตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมากกว่า เพราะเสนอให้แก้ รธน. แบบ "ไม่มีข้อจำกัด"

จึงทำให้ คณะประชาชนปลดแอก ออกโปสเตอร์ล้อเลียนพรรคเพื่อไทย "พรรคเพื่อไทย ไม่ปิดสวิทช์ ส.ว." และเขียนว่า "เพื่อไทยหรือเพื่อใคร ? ทำไมไม่ฟังเสียงประชาชน"

ย้อนการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ที่ทำให้ผู้ชุมนุมออกมาท้วงติงการทำงานของพรรคเพื่อไทย

1.ช่วงที่เกิดวาทกรรม "สู้ไปกราบไป" เมื่อพรรคเพื่อไทยถูกวิจารณ์การทำงานในสภาฯ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย มาประกันตัว "อานนท์-ไมค์" แกนนำชุดแรกที่ถูกล็อกตัว ล่าช้า รวมถึงจุดยืนของ คุณหญิงสุดารัตน์ ที่มีการชุมนุม โดยไม่เห็นด้วยกับการยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับสถาบัน

2.ต่อมา ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคน ออกมาวิจารณ์จุดยืนของ พรรคก้าวไกล ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแยกญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เช่น วัฒนา เมืองสุข โพสต์มีนัยถึงพรรคก้าวไกล คือ "เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้เพื่อน" กรณีพรรคก้าวไกลกลับลำถอนชื่อจากญัตติร่วมฝ่ายค้านในโค้งสุดท้าย เพื่อแยกยื่นญัตติของตัวเองที่ตอบสนองข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมากว่า

แต่การที่พรรคเพื่อไทยเลือก "ไม่ร่วม" ยื่นญัตติ กลับถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยกำลัง "แอ่นอกรับ" ข้อครหาที่ผู้ชุมนุมเคยวิจารณ์ไว้ในข้อแรก

3.ความขัดแย้งใหม่ระหว่าง พรรคเพื่อไทย –พรรคก้าวไกล ล่าสุดพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่ง รังสิมันต์ โรม มองว่าควรฝ่ายค้านควรเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 มากกว่า เพราะหากเลือกวิธีแรกจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้แก้ตัวเท่านั้น ซึ่งท่าทีนี้ถูก วัน อยู่บำรุง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า "อย่าเหิมเกริม อวดดี"

วันนี้ (26 ส.ค.63) ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงย้ำจุดยืนการแก้ไข รธน. ซึ่งเมื่อวิเคราะห์นัยยะการแก้ไข คงใช้คำว่า "แก้ไข" ไม่ได้ เพราะเป้าหมายคือการ "ยกร่าง" รธน.ฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. พิจารณายกร่าง รธน.

ส่วนสาเหตุที่เสนอให้ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." ไปพร้อมกัน หรือยกเลิก มาตรา 269-272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ เพราะคาดว่าการยกร่าง รธน.ใหม่ ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี และหากช่วงนั้นรัฐบาลมีอันเป็นไป และต้องเลือกตั้งใหม่ ก็จะได้มั่นใจว่า ส.ว.จะไม่ได้ร่วมโหวตนายกฯ

ซึ่งสุดท้ายความพยายามที่ผลักดันมาอาจสูญเปล่า

แน่นอนว่าหากพรรคก้าวไกลทำได้ย่อมเป็นผลดี แต่ความเป็นจริง เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ?

ด่านแรก พรรคก้าวไกล ต้องรวมเสียงให้ได้ 98 คน ซึ่งพรรคเองมีเสียงแค่ 54 คน

ด่านที่ 2 ต่อให้ยื่นญัตติได้แล้ว ส.ว. จะเห็นด้วยกับการแก้ไขสูตร พรรคก้าวไกล หรือไม่ เพราะอย่าลืมเงื่อนไขว่าต้องใช้เสียง ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่ง "เปิดทาง" ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกขั้นตอน

ไม่ว่าจะเป็น จุดยืน –วิวาทะ ระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล จะเป็นแค่รอยร้าวหรือไม่ แต่ปลายทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังมีภาพไม่ชัดเจน ไม่ใช่หลักการหรือรายละเอียดที่ต่างกัน แต่อาจทำให้ผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสภาพการเมืองระหว่างนี้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ทั้งแรงหนุน-แรงต้านของมวลชน และท่าทีของผู้กุมอำนาจ ที่สามารถใช้ความไม่ลงรอยนี้เป็นข้ออ้างในการหยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสมอ

ไม่ว่าด้วยเหตุผลของความขัดแย้ง-แตกแยก หรือการเมืองล้มเหลว ...ดังที่ท่านก็เคยผู้มีอำนาจใช้เห็นเหตุผลในการรัฐประหารมาแล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง