THE EXIT : สารทดแทน ตอบโจทย์เกษตรกร ?

สิ่งแวดล้อม
30 ส.ค. 63
19:09
3,427
Logo Thai PBS
THE EXIT : สารทดแทน ตอบโจทย์เกษตรกร ?
ตลอดปลายสัปดาห์ มีความเคลื่อนไหว ของกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ขณะที่เกษตรกร มองว่า สารที่กรมวิชาการเกษตรพยายามให้ใช้ทดแทน ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

เกือบ 3 เดือนที่เกษตรกรใน ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ใช้พาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช ปัจจุบันไร่อ้อยประมาณ 10 ไร่ เต็มไปด้วยหญ้าคลุมสูงเพราะอยู่ในช่วงหน้าฝน

นายไกรราช อ่อนบุญมา กล่าวว่า เคยปลูกอ้อยกว่า 70 ไร่ เพื่อส่งให้กับโรงงานน้ำตาลตามโควต้า แต่เมื่อมีกระแสการแบนวัตถุอันตราย 2 ชนิด โดยเฉพาะพาราควอตทำให้ตัดสินใจลดปริมาณการปลูกเพราะต้นทุนสูง และหันมาลงทุนปลูกมันสำปะหลังแทน

รถไถเดินตามจึงเป็นเครื่องมือทางเลือกที่เลือกใช้กำจัดวัชพืชแทนการใช้วัตถุอันตรายชนิดอื่น เพราะกังวลถึงผลกระทบต่อผลผลิตและมองว่ายังไม่มีสารกำจัดวัชพืชชนิดใดที่ตอบโจทย์เกษตรกรเทียบเท่าพาราควอต ทั้งด้านประสิทธิภาพและราคา

 

ขณะที่นายสุรวุฒิ คุณนาม เกษตรกรใน อ.ยางชุมน้อย จ.ศรสะเกษ ทำธุรกิจส่งออกผักสวนครัว เช่น พริก และหอมแดง ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอต เพราะมองในมุมของการทำเกษตรภาคอุตสาหกรรมที่ต้องมีต้นทุนการผลิต

 

นายสุรวุฒิ ยกตัวอย่างผลผลิตจากแปลงเกษตรที่บ้านว่าได้รับมาตรฐานปลอดภัย ทั้งที่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช แต่หากพิจารณาจากวิธีการจัดการศัตรูพืช หรือสารทดแทนพาราควอตแล้ว กลับมองว่าสารเคมีหลายชนิดมีอันตรายไม่ต่างกัน

"กลูโฟซิเนตมีฤทธิ์กำกึ่งระหว่างดูดซึมกับเผาไหม้ ส่วนพาราควอตมีฤทธิ์ในการเผาไหม้ พอมีฤทธิ์กำกึ่งนำมาใช้ก็ลำบาก หญ้าตายช้า และหากใช้ในปริมาณที่ไม่มากพอ หญ้าก็อาจจะไม่ตาย ที่สำคัญคือราคาแพงกว่า"

 

กระแสการแบนวัตถุอันตราย 2 ชนิด โดยเฉพาะพาราควอต ยังคงถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของสารทดแทน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำให้ใช้โดยเฉพาะ กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม ที่ไม่นิยมในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและอ้อย

 

นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่าง 1 ใน สารเคมี 16 ชนิด ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำให้ใช้ คือ กูลโฟซิเนต-แอมโมเนียม ที่พบว่ามีงานวิจัยของต่างประเทศ พบสารตกค้างไม่ต่างไปจากพาราควอต และถูกแบน ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งในงานวิจัยระบุว่า กูลโฟซิเนต ส่งผลกระทบทั้งคนและสัตว์

 

สำหรับสารเคมีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำให้เกษตรกรใช้แทนพาราควอต แบ่งเป็นประเภท พ่นก่อนวัชพืชงอก เช่น อะลาคลอร์, เมโทลาคลอร์, อะเซโทคลอร์, ไดยูรอน อะทราซีน เป็นต้น

ส่วนประเภทพ่นหลังวัชพืชงอก คือ กูลโฟซิเนต-แอมโมเนียม, อะทราซีน อะมีทรีน และฟิโนซาพรอฟ แต่หากจัดแยกประเภทจะพบว่าไม่มีสารใดที่อยู่ในกลุ่มเผาไหม้และทุกชนิดมีข้อจำกัดการใช้กับพืชที่ต่างกัน

 

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระแสการแบนพาราควอตถูกนำเสนอโดยการยึดหลักการเน้นความปลอดภัยของเกษตรกร และผู้บริโภคมาโดยตลอด จนนำไปสู่การแบนสาร 2 ชนิดนี้แม้จะยังไม่มีสารทดแทน

นอกจากนี้การเผยแพร่ข่าวขององค์การอาหารและยา (อย.) ที่ระบุว่า คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง มีมติอนุโลมให้มีการนำเข้าอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี จากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แม้จะเป็นไปตามมาตรฐาน ไปจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.2564 แต่ในขณะที่การแบนการใช้ในประเทศกลับเป็นไปในลักษณะเร่งด่วน

สิ่งเหล่านี้กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ภาครัฐจริงใจต่อการแก้ปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนจริงหรือไม่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : เกษตรกรเลือกไม่คืนสารเคมี หลังครบกำหนด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง