3 ทศวรรษ "สืบ นาคะเสถียร" ความท้าทายใหม่งานอนุรักษ์

Logo Thai PBS
3 ทศวรรษ "สืบ นาคะเสถียร" ความท้าทายใหม่งานอนุรักษ์
30 ปี "สืบ นาคะเสถียร" ปลุกกระแสอนุรักษ์ป่าไม้สัตว์ป่าแนวโน้มดี พบตัวบ่งชี้ "เสือโคร่ง" ป่าห้วยขาแข้งเพิ่ม 8% มากกว่า 70 ตัว เล็งผนวกกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ 1 ล้านไร่ คลุมพื้นที่ไข่แดงกลุ่มป่าตะวันตกให้ได้ 11.7 ล้านไร่

วันนี้ (1 ก.ย.2563) เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 30 ปี “สืบ นาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ต้นแบบความท้าทายบทบาทใหม่ของงานอนุรักษ์ บนเส้นทางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หนึ่งในตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของห้วยขาแข้ง คือประชากรสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้น เช่น วัวแดง โดยเฉพาะเสือโคร่งเพิ่มขึ้นราว 8% ในรอบหลายปี

จากงานวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ผลสำรวจปีนี้มีประชากรเสือโคร่ง 77 ตัว ถือว่าเขานางรำ น่าจะเป็นสถานีของเสือโคร่งที่ติดอันดับต้นในเอเชีย

 

ส่วนกลุ่มวัวแดงและสัตว์กีบเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการประเมินด้วยสายตาในการผ่านเข้าออกพื้นที่และสามารถพบตัวสัตว์ป่าดังกล่าวได้ง่ายขึ้น โดยเข้ามาหากินบริเวณที่ทำการ ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้เป็นอาหารของเสือ เป็นวงจรที่ชี้ว่าปริมาณที่สัตว์ต่าง ๆ สมบูรณ์ ทำให้เสือเพิ่มและขยายพื้นที่หากินไปยังด้านบน เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์  

 

1 ก.ย.33 วันแห่งการปลุกกระแสอนุรักษ์ 

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า อีกตัวบ่งชี้ความสำเร็จงานอนุรักษ์ พบว่าผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ ที่มีพื้นที่ 4 ล้านไร่ แทบจะไม่มีปัญหาบุกรุก ถือว่าการจัดการผืนป่ามรดกโลกทำได้ดี แต่ในอนาคตจะเน้นการบริหารกลุ่มป่าตะวันตกทั้ง 11 อุทยานแห่งชาติและ 6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผืนป่าตรงนี้ มีความพยายามจะผนวกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในการดูแลกรมป่าไม้ อีก 1 ล้านไร่มาอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก เพื่อให้ครอบคลุมห้วยขาแข้ง ที่เปรียบเสมือนไข่แดงของกลุ่มป่าตะวันตกทั้งผืนไว้ 

ทั้งนี้ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่ห้วยขาแข้งมีความแข็งแกร่งมาก ทำให้สัตว์ขนาดใหญ่ถูกล่าน้อยมาก แตกต่างจากในอดีตที่พบการล่าจำนวนมาก แต่ยังพบการล่าสัตว์ขนาดเล็ก ซึ่งได้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นแบบในการดูแลผืนป่าอื่น ๆ ทั้ง 17 กลุ่มป่า 17 พื้นที่คุ้มครอง และ 6 พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

นับแต่ 1 ก.ย.2533 การเสียชีวิตของพี่สืบ เป็นจุดเริ่มต้นกระแสอนุรักษ์ในประเทศไทย และเป็นครั้งใหญ่ที่สุด คนไทยตื่นตัวทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้ เกิดการช่วยกันดูแล ส่งผลให้ทุ่งใหญ่ และป่าตะวันตกมีความสมบูรณ์มาก 

30 ปี บรรลุเจตนารมณ์ "สืบ"

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำตามเจตนารมณ์ของ "สืบ นาคะเสถียร" ในการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรป่าไม้ สร้างกระแสการอนุรักษ์ จนภารกิจบรรลุผลสำเร็จในทุกภาคส่วน สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด คือ ปฎิรูปการจัดการป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า วนอุทยาน โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า ป่าไม้ ดีขึ้น 200-300% คนละเรื่องกับ 30 ปีที่แล้ว

ทั่วโลกเผชิญ Climate change

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงการทำงานก้าวสู่ปีที่ 31 ว่า ขณะนี้นักวิชาการทั่วโลกให้ความสนใจในประเด็นภาวะโลกร้อน (Climate change) ทุกประเทศกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน มูลนิธิฯ ในฐานะองค์กรสิ่งแวดล้อม จะร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ หาแนวทางรณรงค์และแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสื่อสารให้ประชาชนในสังคมตระหนักและเข้าใจปัญหานี้

ปีนี้ตั้งคำถามว่าจะร่วมมือแก้ Climate change อย่างไร เพราะเป็นวาระใหญ่ของมนุษย์ ช่วงหลัง 30 ปี เรากับองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลกต้องเดินไปพร้อมกัน 

สำหรับช่วงเช้าวันนี้ (1 ก.ย.2563) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร และวางหรีด รำลึก สืบ นาคะเสถียร โดยมีตัวแทนองค์กรร่วมวางหรีด 74 องค์กร ส่วนในช่วงเวลา 18.35 - 19.10 น. เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถ่ายทอดสด facebook live ปาฐกถา “30 ปี สืบ นาคะเสถียร ความท้าทายบทบาทใหม่ของงานอนุรักษ์ บนเส้นทางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” โดยศศิน เฉลิมลาภ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ 30 ปี สืบฯ ในความทรงจำผู้ปลุกไฟในงานอนุรักษ์ 30th memory of Seub ผ่านมิติของแสงและเงา เพื่อระลึกถึงการจากไปของนักอนุรักษ์ผู้เป็นตำนาน ในวันที่ 1-6 ก.ย. เวลา 10.00-19.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง