เปิดปม : เปิดแผนคลองไทย 9A

สังคม
7 ก.ย. 63
13:33
15,990
Logo Thai PBS
เปิดปม : เปิดแผนคลองไทย 9A
ความพยายามที่จะขุดคลองไทยแนว 9 เอ เชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย เกิดขึ้นท่ามกลางความหวังว่าโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ในระดับโลกนี้จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีความกังวลว่า คลองไทยอาจนำมาซึงปัญหาความมั่นคงได้เช่นกัน

การขุดคลองเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทยเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยได้รับรู้รับฟังมานาน

ล่าสุดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการขุดคลองไทยบนเส้นทาง 9 เอ ขึ้นอีกครั้ง มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทยและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว

 

เส้นทางของคลองไทย 9 เอ จะผ่านจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรังและกระบี่ มีระยะทาง 135 กิโลเมตร คาดว่า จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้ 1,200 - 3,500 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลองไทยขึ้นบริเวณปากคลองไทย คาดว่าใช้งบประมาณในการดำเนินการ 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงว่า คลองไทยจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับงินที่ลงทุนหรือไม่

รศ.สถาพร เขียววิมล อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ วุฒิสภา ให้ข้อมูลไว้ในรายงานการศึกษาโครงการขุดคลองไทย พ.ศ. 2547 ระบุว่า เส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตรา
เส้นทางผ่านช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา
เส้นทางผ่านช่องแคมลอมบ็อค ระหว่างเกาะบาหลีกับเกาะลอมบ็อค

 

นอกจากนี้ รศ.สถาพร เขียววิมล ยังให้ความเห็นว่า คลองไทยจะช่วยย่นระยะทางการเดินทางระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันได้ 1,200 - 3,500 กิโลเมตร ซึ่งหากคำนวณจากความเร็วมาตรฐานสากลที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรแล่นผ่านช่องแคบได้ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาได้ 2 – 7 วัน

เรือแต่ละลำมีค่าใช้จ่ายมาก อย่างเรือขนาด 2 หมื่นตู้คอนเทนเนอร์ ผมเข้าใจว่าไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านบาทต่อวัน เพราะฉะนั้นเขามาใช้คลองไทยแล้วประหยัด ที่เราได้ประโยชน์มาก ๆ ก็คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเอาตู้คอนเทนเนอร์จากทั่วประเทศไทยไปส่งที่สิงคโปร์เพื่อไปส่งต่อประเทศอื่น

ขณะที่ รศ.รุธิร์ พนมยงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเคยทำงานวิจัยโดยใช้แบบจำลองทำนายสถานการณ์หลังจากขุดคลองไทยพบว่า ประเทศที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดหากคลองไทยเกิดขึ้น คือ ประเทศจีนและเกาหลีใต้ โดยจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 15-20 ปี ส่วนประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ไม่มากเพราะเป็นเพียงประเทศทางผ่านเท่านั้น

ส่วนเรื่องของเวลาในการเดินเรือ รศ.รุธิร์ พนมยงค์ วิเคราะห์ว่าคลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาได้ไม่ถึง 2 วันเพราะระหว่างที่เรือแล่นผ่านคลองไทยจะไม่สามารถแล่นด้วยความเร็ว นอกจากนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอ ทำให้เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เรือแต่ละลำต้องจ่ายค่าผ่านคลองแล้ว การเดินเรือผ่านคลองไทยอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้เส้นทางเดิม

คำถามแรกคือความคุ้มค่าของการประหยัดได้ 2-3 วัน ซึ่งในหลักด้านโลจิสติกส์ เรามักพูดตลอดว่าต้องดูต้นทุนรวม การที่เราประหยัดได้ 2-3 วัน มันลดค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ ประเด็นที่สองคือการเข้าไปในคลองก็ต้องรอคิว แล้วก็จะมีลักษณะที่เป็นขั้นบันได ไม่ใช่อยู่ดี ๆ อยากจะเข้าก็เข้า เพราะฉะนั้นอาจประหยัดได้แค่ครึ่งวันหรือ 1 วันเท่านั้น

ความมั่นคงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง พล.ร.ต.จตุพร ศุขเฉลิม อนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สภาความมั่นคงแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า การขุดคลองไทยจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเคลื่อนกำลังพลไปสู่ภูมิภาคอื่น และ อาจเป็นปัจจัยชักจูงให้ประเทศมหาอำนาจพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือคลองไทยเพื่อควบคุมเส้นทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ โดยยกตัวอย่าง สถานการณ์ที่ประเทศจิบูติซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับคลองสุเอซ ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ที่เรือทุกลำที่ใช้คลองสุเอซต้องเดินทางผ่าน

ปัจจุบันประเทศขนาดเล็ก ที่มีเนื้อที่ประมาณ 23,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 9 แสนคน อย่างประเทศจิบูติ กลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือจากประเทศมหาอำนาจทั้งญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และล่าสุดปี 2560 ประเทศจีนก็เลือกประเทศจิบูติเป็นที่ตั้งของฐานทัพต่างแดนแห่งแรกเช่นกัน

 

จึงมีการคาดการณ์ว่าหากในอนาคตคลองไทยซึ่งช่วยย่นระยะทางในการเดินทางผ่านคาบสมุทรอินโดจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น อาจกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต่างชาติต้องการเข้ามามีอิทธิพลเพื่อกุมความได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์

เวลามีปัญหาทางตะวันออกกลาง อิหร่านประกาศเสมอว่าจะปิดอ่าวเปอร์เซีย เพราะมันเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะปฏิเสธไม่ได้ว่าคลองไทยไม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกที่อ่าวมะนาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งกำลังไปที่พม่าและอินเดีย  ดูประเทศที่อยู่ปากคลองสุเอซอย่างประเทศจิบูติ ซึ่งเรือผ่านแน่ ๆ ตอนนี้เต็มไปด้วยกองกำลังต่างชาติ เราจะยอมเป็นอย่างนั้นไหม

แต่ในมุมของผู้สนับสนุนโครงการคลองไทย รศ.สุเมต สุวรรณพรหม รองประธานมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ กลับมองว่าการที่ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดคลองไทย เป็นเพราะทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่นานาชาติจะได้รับร่วมกัน

เรื่องมหาอำนาจจะมาแย่งชิงกันไม่ต้องพูด มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการลงทุนมันคล้าย ๆ อีอีซี ทุกชาติต้องมาเข้าร่วม จะมีบริษัทของทุกประเทศเป็นผลประโยชน์มันร่วมกัน แล้วใครจะทะเลาะกับใคร

เดือนมกราคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทย และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายค้านและรัฐบาลจำนวน 49 คน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้

 

ฝ่ายสนับสนุนคลองไทยนำโดยสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ออกมาเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยเชิงลึกถึงความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทยแนว 9 เอ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาแม้มีการศึกษามาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ละเอียดเพียงพอเพื่อประกอบการพิจารณาว่าการขุดคลองไทยสามารถทำได้หรือไม่ แต่ข้อเรียกร้องนี้ก็มีอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการศึกษาโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ อาจต้องใช้เงินทุนนับพันล้านบาทเพื่อให้ได้ผลออกมาอย่างครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง