ทิศทาง "อยู่เป็น" ของ ส.ว.

การเมือง
8 ก.ย. 63
18:10
603
Logo Thai PBS
ทิศทาง "อยู่เป็น" ของ ส.ว.
เช็กเสียง ส.ว. แตกเป็น 3 ฝ่าย หลังบางขั้วหนุนตัดอำนาจตัวเอง ปิดสวัตซ์ ส.ว.-ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เครื่องมือที่เคยใช้หนุน "ประยุทธ์" เข้าสู่อำนาจ

ปมแก้รัฐธรรมนูญ กำลังเป็นประเด็นร้อนของ ส.ว. ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะจุดเชื่อมโยงที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดคือ 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของ ส.ว. ต้องเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้

เป็นเค้าลางที่ทำให้ ส.ว. ”เสียงแตก” เริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งพรรคร่วมรัฐบาล ยอมแก้ มาตรา 256 เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

เพราะนั่นต่างจากสัญญานเดิมที่ได้รับ ส่วนใหญ่คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะออกมาในรูปของการแก้รายมาตรา

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปเกิดกระแสเรียกร้องและกดดันทำให้รัฐบาลยอมเล่นบท ”ตามน้ำ” ไม่กล้า “สวนกระแส” ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ มีปัญหาและอุปสรรคมากมาย และเพื่อความปลอดภัยรัฐบาลจึงไม่ควรเปิดศึกหลายด้าน

ขณะที่ทาง ส.ว.เอง ก็กลัว “ทัวร์ลง” หลังตกอยู่ในสภาพจำเลยที่สำคัญ ตามที่มีกระแสเรียกร้อง จนในที่สุดยอม “ปิดสวิตช์” ตัวเอง เห็นด้วยการแก้ มาตรา 272 ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ช่วง 5 ปีแรก

ยิ่งชัดเจนกับคำเตือน ส.ว. ด้วยกันของ นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) ที่ว่าถ้า ส.ว. ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าวันนั้นนรกจะมาเยือน ส.ว.แน่

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการวิเคราะห์ภายในของกลุ่ม ส.ว.กันเอง พบว่าขณะนี้เสียง ส.ว. แตกออกเป็น 3 กลุ่ม โดย กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ยังสงวนท่าที มีกว่า 100 คน

กลุ่มที่ 2 สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ส. ทั้งการตั้ง ส.ส.ร. แก้มาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตนายกฯ ซึ่งมีประมาณ 40 –50 คน

และ กลุ่มที่ 3 กลุ่ม ส.ว.อิสระ ที่ไม่ได้มากจากทหารและตำรวจ ประมาณ 60 กว่าคน ที่เห็นว่าควรแก้เป็นรายมาตรา แก้มาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตนายก แต่ไม่เอา ส.ส.ร.

ถึงแม้ความเห็นต่างของ ส.ว. ในครั้งนี้ ทางวิปวุฒิสภาและประธานวิปรัฐบาล เชื่อว่า ยังมีเวลาทำความเข้าใจกับ ส.ว.ที่เห็นต่าง ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 23 -24 ก.ย.นี้

และบทสรุปสุดท้าย การลงคะแนนของ ส.ว. จะออกมาในรูปของการ “ฟรีโหวต” แต่ก็ยังเชื่อว่า ส.ว. ที่มาจากทหาร-ตำรวจ และยังพร้อมจะเห็นในทิศทางเดียวกับรัฐบาล มีมากถึง 104 คน จาก ส.ว. ทั้งหมด 250 คน

นั่นก็หมายตวามว่า ถึงแม้ ”พิธีกรรม” ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะผ่าน เพราะรัฐบาลคุมทั้งเสียงข้างมากของ ส.ส. และเสียงของ ส.ว.ส่วนใหญ่

แต่ภาพความเป็นเอกภาพของ ส.ว. ตลอดจนการมีธรรมเนียมปฎิบัติที่ไม่เคยแตกแถว โดยเฉพาะเมื่อครั้งโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 249 เสียงขาดเพียง 1 เสียงของประธานรัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ...ก็จะหายไปจากความทรงจำทางการเมืองไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง