สธ.เปิดสถิติฆ่าตัวตายเพิ่ม 22% จ่อตั้งทีมป้องกันเชิงรุกบนโซเชียล

สังคม
10 ก.ย. 63
10:48
3,522
Logo Thai PBS
สธ.เปิดสถิติฆ่าตัวตายเพิ่ม 22% จ่อตั้งทีมป้องกันเชิงรุกบนโซเชียล
กรมสุขภาพจิต จับมือกองปราบปราม เตรียมพัฒนาและจัดตั้งทีมเฉพาะกิจทำงานเชิงรุก ช่วยเหลือคนที่ส่งสัญญานการฆ่าตัวตายบนโลกโซเชียล คาดระบบให้พร้อมใช้งานก่อนสิ้นปีนี้ พบสถิติคนไทยฆ่าตัวตายเพิ่ม 22% ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19

วันนี้ (10 ก.ย.2563) เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก หรือ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกจะช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต และช่วยกันลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายและทำร้ายคนใกล้ชิด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในไทยช่วงที่ผ่านมา ว่า มีความน่ากังวล จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศในปี 2562 อยู่ที่ 6.64 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 4,419 ราย ต่อปี ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาด้านสัมพันธภาพ อาการป่วยกายและจิต สุรา และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ

สถิติฆ่าตัวตายเพิ่ม 22% ช่วง COVID-19

สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2563 นี้ ซึ่งเริ่มมีการระบาดของ COVID-19 นั้น มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 2,551 คน คิดเป็น 3.89 ต่อประชากรหนื่งแสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2562 (จำนวน 2,092 คน) โดยปัญหาด้านสัมพันธภาพยังคงเป็นปัจจัยลำดับแรก ตามมาด้วยปัญหาอาการป่วยกายและจิต เศรษฐกิจ และสุรา ตามลำดับ ซึ่งการเพิ่มขึ้นในอัตรานี้มีความคล้ายคลึงกับการเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีก่อน ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 ในช่วง 3 ปีหลังเกิดวิกฤต

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังรู้สึกกังวลต่อสัญญานการฆ่าตัวตายต่าง ๆ ในโลกโซเชียล แม้ว่าในปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก จะมีกลไกป้องกันการถ่ายทอดภาพและวิดีโอการทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตายออนไลน์มากขึ้นแล้ว แต่ยังคงพบข้อความส่งสัญญานที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายอยู่ เช่น ข้อความสั่งเสีย ข้อความบอกลา ข้อความวางแผนการทำร้ายตัวเอง

กลุ่มคนที่โพสท์ข้อความต่าง ๆ เหล่านี้ คือกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอย่างเร่งด่วน

จับมือกองปราบป้องกันเชิงรุก

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งไม่สามารถติดต่อให้เข้าสู่ระบบบริการได้ หรือไม่สามารถหาข้อมูลและช่องทางติดต่อกลับไปยังบุคคลนั้นได้ ดังนั้นการศึกษาและพัฒนาระบบการทำงานกับ ฃกองปราบปรามในด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุกในครั้งนี้ จึงถือเป็นการเปิดมิติการทำงานรูปแบบใหม่ของงานด้านสุขภาพจิตของไทยในอนาคต ร่วมกับการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการปราบปราม กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และไลฟ์สดฆ่าตัวตายบนโลกออนไลน์ โดยกองปราบปรามร่วมกับกรมสุขภาพจิต และ Influencers ชื่อดังบนโลกออนไลน์ ทั้ง Drama-Addict, หมอแล็บแพนด้า, แหม่มโพธิ์ดำ และอื่น ๆ เริ่มพิจารณาระบบการส่งต่อข้อมูลบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายบนโลกโซเชียล เพื่อให้ทางกองปราบปรามเร่งประสานสถานีตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบเข้าช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ถึงแม้ขอบข่ายงานจะอยู่นอกเหนือคดีอาชญากรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองปราบปราม แต่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

การช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายบนโลกโซเชียล เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญ ความทุกข์ของพี่น้องประชาชนก็คือความทุกข์ของเรา

ประสาน ตร.ท้องที่ ช่วยเหลือทันที

สำหรับแนวทางการทำงานคือ กองปราบปรามจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการค่อยประสานกับทาง Influencer และกรมสุขภาพจิต ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับการประสานผู้ที่มีความเสี่ยง จะช่วยตรวจสอบว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงอยู่ในพื้นที่ใด และเร่งประสานสถานีตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบเข้าให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจนกว่าจะเรียบร้อย จากนั้นทางกรมสุขภาพจิตก็จะเข้ามาดูแลผู้มีความเสี่ยงต่อไป

ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันกับกรมสุขภาพจิตนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานภาครัฐที่มีเป้าหมายลดความทุกข์ของพี่น้องประชาชน พร้อมฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ทุกปัญหามีทางออกเสมอ และครอบครัวมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากมองเห็นบุคคลในครอบครัวมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ให้พูดคุยและทำความเข้าใจกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง