รมว.คมนาคม เสนอให้สัมปทานเอกชน 99 ปี พัฒนารถไฟ

เศรษฐกิจ
10 ก.ย. 63
12:26
2,657
Logo Thai PBS
รมว.คมนาคม เสนอให้สัมปทานเอกชน 99 ปี พัฒนารถไฟ
รมว.คมนาคม เสนอแก้ไขกฎหมายเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานยาว 99 ปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้เต็มศักยภาพ​ พร้อมระบุ​ ต้องกล้าทลายข้อจำกัด อย่ากังวลว่าจะเอื้อเอกชน ขณะที่ระบบรางที่มียังใช้ประสิทธิภาพได้เพียงร้อยละ 30​ เท่านั้น

วันนี้ (10 ก.ย.63) ภายหลังการเปิดงาน กรมขนส่งทางรางเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชวนเอกชนร่วมลงทุนเดินรถทางราง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) เปิดเผยว่า ระบบรางไทยในปัจจุบันใช้ประสิทธิภาพได้เพียงร้อยละ​ 30 เท่านั้น ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี​ ยังมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่​ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมทั้งในประเทศและเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยได้มอบแนวทางว่า​ การเปิดรับฟังความคิดเห็นให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาขนส่งระบบราง​ สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญ​ คือช่วงว่างในการเดินรถว่ามีมากน้อยแค่ไหนและจะบริหารอย่างไร แน่นอนว่าสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องบริหารก่อน​ แต่ซึ่งหากสหภาพทำเต็มที่แล้วที่เหลือก็จะให้เอกชนทำ​

แต่การจะเปิดให้เอกชนเข้ามา เราต้องกล้าที่จะให้สัมปทานแก่เอกชนด้วย อาจเป็นการเสนอเปิดให้เอกชนลงทุนเข้ามาลงทุนยาวเป็น 99 ปี เหมือนกับในหลายประเทศ ซึ่งไม่ใช่มองว่าทุกอย่างคือการเอื้อเอกชน แต่ต้องดูว่าประชาชนได้อะไร และเรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอยู่ด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนามากขึ้น

ทั้งนี้ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า จากการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตในหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ทั้ง รัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก เกาหลีใต้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยเบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่าการให้ภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการระบบราง จะต้องสามารถขับเคลื่อนได้ภายในรัฐบาลชุดนี้เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรมรางแล้วเสร็จ เนื่องจากมี พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

ส่วนกระแสข่าวว่า สภาพัฒน์ฯ ตีกลับรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง รมว.คมนาคมชี้แจงว่า ไม่ใช่การตีกลับ แต่เป็นเพียงการขอข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น เนื่องจากมีข้อสงสัยว่า ประเทศไทย จะทำเส้นทางรถไฟจำนวนมหาศาล แต่จะเอารถที่ไหนมาวิ่ง ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของวันนี้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า การบริการระบบรางที่ผ่านมาบางเส้นทางยังใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงควรเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าในปี 2565 จะมีการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านตัน จากปัจจุบันที่ 10.5 ล้านตันต่อปี ให้เพิ่มขึ้นนโยบายเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางให้เป็น 30% ใน 3 ปีข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง