" ศักดิ์สยาม" ระบุจะเปิดรถไฟชานเมืองสายสีแดงให้ได้ตามแผนปลายปีหน้า

เศรษฐกิจ
10 ก.ย. 63
19:15
929
Logo Thai PBS
" ศักดิ์สยาม" ระบุจะเปิดรถไฟชานเมืองสายสีแดงให้ได้ตามแผนปลายปีหน้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันจะพยายามเปิดรถไฟชานเมืองสายสีแดงให้ได้ตามแผนปลายปี 2564 พร้อมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษากฎหมายหวังใช้ศาลคุ้มครองสิทธิบริหารการเดินรถ หลังติดปัญหาด้านการเพิ่มงบประมาณการเปลี่ยนแปลงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (10 ก.ย.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องการขอขยายวงเงินดำเนินงานโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เพิ่มเติมประมาณ 10,345 ล้านบาทว่า ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าของระบบโครงสร้างแล้วประมาณร้อยละ 99 แต่ยังติดปัญหาด้านการเพิ่มงบประมาณการเปลี่ยนแปลงงาน (Variation order หรือ VO) ที่มีงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น

 

 

โดยขณะนี้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดูข้อกฎหมายและสรุปรายละเอียดกรณีงานก่อสร้างเพิ่มเติมให้จบโดยเร็วพร้อมยืนยันว่า เรื่องนี้การจะดำเนินการต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ทุกฝ่ายยอมรับให้ได้ แต่ถ้าเจรจาแล้วไม่ได้ข้อสรุป ก็ต้องพยายามหาทางเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงให้ได้ตามแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ที่เปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า เนื่องจากงบประมาณงานด้าน VO ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้การเปิดเดินรถล่าช้า โดยจะไปใช้สิทธิ์ด้วยการยื่นศาลปกครองในการคุ้มครองชั่วคราวไปก่อนเพื่อให้เปิดเดินรถได้

เราจะไปพึ่งศาลปกครอง เพราะหากไม่ทำลักษณะนี้อาจจะถูกฟ้องร้องจากผู้รับเหมาได้เนื่องจากนำทรัพย์สินมาใช้ทั้งๆที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง VO แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลด้วย หากไม่คุ้มครองชั่วคราวก็ไม่สามารถจะไปเปิดเดินรถได้


นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า เรื่องการเดินรถ ในระยะแรกยังคงเป็นบริษัทรถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัดเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทราบว่าขณะนี้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้บริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อสอบคัดเลือกเป็นลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 156 อัตรา เพื่อเข้ามาปฎิบัติงานในโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เพื่อเตรียมดำเนินการทดสอบเสมือนจริงในปี 2564

ส่วนการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ แบบ PPP ทั้งการบริหารการเดินรถ สายสีแดงตลอดสาย และการก่อสร้างสายสีแดง ส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทางนั้น จะทำคู่ขนานกันไป หากได้เอกชนแล้วก็สามารถมาเดินรถแทนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ได้ ซึ่งเมื่อเอกชนมาร่วมทุนก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่างานระบบเดินรถ 32,399 ล้านบาทด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง