เปิด 14 ข้อสังเกต สตช.ค้าน พ.ร.บ.ตำรวจฯ

การเมือง
13 ก.ย. 63
14:57
29,119
Logo Thai PBS
เปิด 14 ข้อสังเกต สตช.ค้าน พ.ร.บ.ตำรวจฯ
เป็นเวลา 3 ปีกว่า ที่การปฏิรูปตำรวจเงียบหายไป หลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้และกำหนดให้ดำเนินการภายใน 1 ปี ล่าสุด หลังจากคดี "บอส อยู่วิทยา" กระแสเรียกร้องถามหาการปฏิรูปตำรวจกลับมาอีกครั้ง รัฐบาลเตรียมนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในวันอังคารนี้

วันนี้ (14 ก.ย.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่ ครม.จะพิจารณาในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ที่ผ่านมามีการหารือเป็นภายในเพื่อหาข้อสรุปมาแล้วหลายครั้ง ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบจะส่งเรื่องที่รัฐสภาทันที ซึ่งคาดว่าจะบรรจุได้ช่วงการเปิดสภาสมัยหน้าเดือน พ.ย.นี้ 

มีทิศทางที่ดีทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รับข้อเสนอและมีทางออก ในเรื่องต่างๆ เชื่อว่าในการพิจารณาของ ครม.ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สตช. ส่ง สลค.ค้าน 14 ประเด็น

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2563 ทาง สตช.ได้จัดทำเอกสาร ที่ ตช.0011.14 / 1697 ให้ความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รวม 14 ประเด็น ส่งมาให้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย

1.เรื่องอำนาจหน้าที่ของ สตช.ไม่เห็นด้วยและเป็นการตรากฎหมายที่เกินความจำเป็น ในการกำหนดให้อำนาจหน้าที่ตำรวจ ที่ระบุไม่ให้เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการจัดจราจรในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.เรื่องการจัดระบบบริหารและการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้องค์กรส่วนท้องถิ่นจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับสถานีตำรวจเท่านั้น เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละพื้นที่ยังมีหน่วยงานระดับกองบัญชาการและกองบังคับการในแต่ละภาคและจังหวัด

หนุนข้าราชการตำรวจ ต้องมียศ

3.เรื่องการกำหนดให้มีข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ ไม่เห็นด้วยและไม่ควรกำหนดไว้เป็น พ.ร.บ.โดยควรจะกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นตามสภาวะการมากกว่า และเห็นว่าเรื่องการให้ยศเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญ ดังนั้นควรพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ว่า หน้าที่ใดควรจะเป็นข้าราชการตำรวจ หรือหน้าที่ใด ไม่ควรมียศ

4.เรื่องการจัดระเบียบราชการใน สตช.ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดแบ่งส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดและกรุงเทพมหานคร เป็นกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด กองบังคับการตำรวจนครบาล และสถานีตำรวจไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตลอดจนการกำหนดอัตรากำลังของส่วนราชการที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการไว้ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งข้าราชการตำรวจในส่วนข้าราชการจะมีคุณสมบัติ ตำแหน่ง จำนวนเท่าใด จะเป็นไปตามที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะองค์กรบริหารงานบุคคลของ สตช.จะเป็นผู้พิจารณากำหนด

หัวหน้าสถานีตำรวจ ต้องไม่ต่ำกว่าตำแหน่งผู้กำกับฯ

นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับการ “กำหนดให้ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพจะตราพระราชกฤษฎีกาให้มีสถานีตำรวจ ที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้กำกับการได้” ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดตั้งสถานีตำรวจตลอดจนกำหนดพื้นที่และเขตอำนาจของสถานีตำรวจมีลักษณะเป็นการดำเนินการเพื่อประสิทธิภาพและดูแลความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของประชาชนในแต่ละพื้นที่ซึ่งควรเป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรบริหารงานบุคคล คือคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและการจัดตั้งสถานีตำรวจที่มีหัวหน้าสถานีต่ำกว่าผู้กำกับการไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

5.เรื่องคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติเนื่องจากงานด้านการบริหารงานบุคคลและงานด้านนโยบายมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง และกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดให้การบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบงานด้านนโยบายและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจรับผิดชอบงานด้านบริหารงานบุคคล ซึ่งทั้ง 2 องค์กรแยกจากกันเป็นประโยชน์ต่องานของ สตช.

ปัด ข้อเสนอยุบ คกก.นโยบายตำรวจแห่งชาติ

ดังนั้น หากยกเลิกคณะกรรมการนโบยายตำรวจแห่งชาติตามข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ)ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน จะส่งผลให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามงาน (กต.ตร.) ถูกยุบไปด้วย ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญสำหรับงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและตำรวจในชุมชน

จากเหตุผลที่ยังให้คงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติไว้ตามเดิม จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจในฐานะองค์กรด้านการบริหารงานบุคคลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ

ค้าน คนนอกมากเป็น ก.พ.ค.ตร.

6.คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เนื่องจากบุคคลที่เป็นกรรมการส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอกหรือไม่ใช่ผู้ที่เคยรับราชการตำรวจ การพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อาจจะขาดความเข้าใจลักษณะงานของตำรวจซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นธรรมทั้งในส่วนของข้าราชการตำรวจและผู้บังคับบัญชา ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย

7.เรื่องคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการต้องการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่จะเข้ามารับผิดชอบทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงาน และมีโครงสร้างไปถึงระดับพื้นที่ อีกทั้งในส่วนของการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะมีการตรวจสอบภายในจากสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจสอบภายในไว้อยู่แล้ว การจะให้มีคณะกรรมการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอีกจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและไม่น่าจะสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ

8.เรื่องการกำหนดคุณสมบัติรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติในฐานะองค์กรด้านบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นไปด้วยความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทางราชการ

ไม่เห็นด้วย กำหนดตำแหน่งแยกสายงานสอบสวน

9.เรื่องการกำหนดตำแหน่งแยกสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดลักษณะสายงานของตำแหน่งข้าราชการตำรวจอยู่ในกฎหมาย เนื่องจากเป็นเรื่องรายละเอียดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ จึงควรให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติในฐานะองค์กรด้านบริหารงานบุคคลของตำรวจ

ไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจผู้บัญชาการสอบสวน และผู้บังคับการสอบสวน จากงานด้านการสอบสวนภายในกองบัญชาการและกองบังคับการ อีกทั้งไม่เห็นด้วยเรื่องการกำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจสายงานหนึ่งไปดำรงตำแหน่งีกสายงานหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นการจำกัดความเจริญเติบโตของตำรวจแต่ละสายงาน

10.เรื่องกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา ไม่เห็นด้วยกับการตัดผู้แทนกรมบัญชีกลางออกจากการเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนเพื่อกาสอบสวนและสอบสวนคดีอาญา

ค้านโอนตำรวจรถไฟ–ตำรวจปราบปรามความผิดทรัพยากรธรรมชาติฯ

11.เรื่องการดำเนินการตามบทเฉพาะการของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่เห็นด้วย กับการยกเลิกบางส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโอนย้ายภารกิจบางส่วนไปให้ส่วนราชการอื่นเพราะภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามที่ระบุในร่างกฎหมายคือ การป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รวมถึงเป็นหน่วยงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทางจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านดำเนินการ

อาทิ กองบังคับการตำรวจรถไฟ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานด้านดังกล่าว ส่วนราชการที่รับโอนภารกิจจะต้องมีความชำนาญ มีความพร้อม ดังนั้น ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง การยุบหรือโอนภารกิจดังกล่าวเพื่อนำอัตรากำลังไปจัดสรรให้สถานีตำรวจก็ยังไม่เพียงพอทั้งที่มีการบูรณาการการปฏิบัติงานทุกหน้าในสถานีตำรวจอยู่แล้ว

ไม่เห็นด้วย กับการห้ามตั้งส่วนราชการหรือหน่วยงานใหม่

นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วย กับการห้ามจัดตั้งส่วนราชการ หรือหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้การจัดโครงสร้างส่วนราชการ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ สภาพเศรษฐกิจและสังคม การห้ามจัดตั้งส่วนราชการใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถจัดโครงสร้างส่วนราชการเพื่อรองรับการแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมตลอดจนความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของประชาชน

12.เรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ ไม่เห็นด้วยกับการให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนดกำให้การรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญซึ่งไม่ใช่พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยควรเป็นไปตามสถานการณ์ในแต่ละกรณี และควรเป็นดุลยพินิจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชาและมีหน้าที่ควบคุมราชการประจำของสำหนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม

13.เรื่องการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับสิทธิในการเลือกตำแหน่งเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือผู้สอบคัดเลือกหรือแข่งขันได้มากำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

ค้านกำหนดหลักเกณฑ์ แต่งตั้งสารวัตร จเรตำรวจ รอง ผบ.ตร.

14.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ไม่เห็นด้วย กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรถึงจเรตำรวจและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีการกำหนดระยะเวลาการครองตำแหน่งแต่ละระดับไว้ ทั้งนี้เห็นว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติที่เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของหน่วยงาน ซึ่งมีกฎระเบียบการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตำรวจอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประเมินเพื่อประกอบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะการกำหนดค่าคะแนนประเมินผู้ดำรงตำแหน่งนานที่สุดได้รับคะแนนสูงกว่าการประเมินในหัวข้ออื่น เพราะไม่สะท้อนความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการประเมินในรูปแบบใดให้เกิดความน่าเชื่อถือ ควรให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติวางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องหลักเกณฑ์การจัดชั้นสถานีตำรวจ

ค้านการกำหนดเวลาครองตำแหน่ง แต่งตั้งข้ามสายงาน

นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการประเมินความพึงพอใจชองประชาชนเพื่อใช้เป็นคะแนนในการพิจารณาแต่งตั้งเพราะเป็นการไม่ได้พิจารณาจากการทำงานของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

ไม่เห็นด้วย กับการกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งของข้าราชการตำรวจในสายงานสอบสวน เพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไว้เป็นกฎหมาย ทั้งนี้ควรเป็นไปตามสภาพข้อเท็จจริงในการบริหารงานของบุคคลแต่ละส่วนราชการและควรเป็นอำนาจของข้าราชการตำรวจแห่งชาติ

ไม่เห็นด้วย กับการเลื่อนตำแหน่งผู้กำกับการสอบสวนให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการสอบสวนเนื่องจากจะทำให้เกิดความลักลั่นในเรื่องความเจริญก้าวหน้ากับข้าราชการตำรวจสายงานอื่น

ไม่เห็นด้วย กับการกำหนดให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองสารวัตร สารวัตร รองผู้กำกับการ ผู้กำกับการและรองผู้บังคับการไปดำรงตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันในสายงานเดียวกัน

ค้านโอนผู้ถูกกล่าวหาทางวินัยไปแขวนฝ่ายอำนวยการฯ

ทั้งนี้ ต้องแจ้งเหตุผลให้ชัดเจนต่อผู้รับการแต่งตั้งทราบเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการแต่งตั้งผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมที่จะต้องถูกแต่งตั้งไปให้ดำรงตำแหน่งประจำในฝ่ายอำนวยการที่สังกัดอยู่หรือกองบัญชาการอื่นหรือฝ่ายอำนวยการของสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรเป็นอำนาจทางปกครองโดยกำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือพักราชการ ไม่ควรให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายอำนวยการ ไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาแต่จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติราชการ

และไม่เห็นด้วย กับการกำหนดให้แต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งสายงานใด จะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับสายงานนั้น ทั้งนี้เป็นการปิดกั้นการเรียนรู้สายงานต่างๆ ของข้าราชการตำรวจที่จะเติบโตเป็นผู้บริหาร จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความรู้ลักษณะงานที่มีความหลากหลายเพื่อให้การบริหารหน่วยมีประสิทธิภาพ

งานนี้คงต้องรอลุ้นกันว่า ท้ายที่สุดร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่าน ครม.จะมีเนื้อหาสาระอย่างไร ตรงตามที่ใจ สตช.ต้องการมากน้อยแค่ไหน และถึงแม้จะผ่านด่านของ ครม.ไปได้  แต่ก็ยังมีด่านต่อไป ในขั้นตอนของรัฐสภาที่มีคณะกรรมธิการฯ อีกหลายคณะรอ "จองกฐิน" เตรียมเสนอแก้ไข โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน ที่เคยเห็นต่าง และมีข้อสังเกตมากมายหลายประเด็น ทั้งโครงสร้างและอำนาจของ สตช.ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรี่องใหญ่ ดังนั้น คงต้องจับตาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง