#Alive : จากข้อความเตือนภัย สู่ทางรอดภัยพิบัติ ปี 2020

Logo Thai PBS
#Alive : จากข้อความเตือนภัย สู่ทางรอดภัยพิบัติ ปี 2020
ข้อความแจ้งเตือนภัย (Emergency Alert) ในภาพยนตร์ซอมบี้เกาหลีเรื่อง Alive อาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ จนเกิดเป็นประเด็นวิพากษ์ในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในโลกจริงหลายประเทศมีข้อความแจ้งเตือนภัยส่งถึงประชาชนแล้ว รวมถึงประเทศไทยก็กำลังพัฒนาระบบเช่นกัน
เตือนภัยฉุกเฉิน ประชาชนบางส่วนได้ก่อความรุนแรง

ข้อความแจ้งเตือนภัย หรือ Emergency Alert ที่รัฐบาลเกาหลีส่งข้อความเตือนประชาชน ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องของภาพยนตร์เกาหลี #Alive: คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ อาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนในต่างประเทศคุ้นเคย แต่บางคนกลับตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ในชีวิตจริง (บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์)


ท่ามกลางเรื่องราวสุดระทึกใน Alive ที่บอกเล่าเรื่องราวของจุนอู (รับบทโดย ยูอาอิน) ชายหนุ่มที่อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงโซล เน้นความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้มีชีวิตรอด หลังในเมืองใหญ่ของเกาหลีใต้ กลับเผชิญกับวิกฤตเมื่อผู้คนในเมืองติดเชื้อจากโรคประหลาด ส่งผลให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่รุนแรงกว่าปกติ และ "กัดกินเนื้อมนุษย์" จุนอูที่อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์คนเดียวต้องหาทางดิ้นรนโดยตั้งเป้าหมายว่า "ต้องรอดชีวิต"

จุนอู ได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินจากรัฐพร้อมๆ กับการรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคประหลาดสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังพอใช้การได้ จุนอูเช็กข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า เพื่อนในโซเชียลของเขาได้โพสต์รูปภาพผ่านอินสตาแกรม พร้อมถือป้ายที่อยู่ของตัวเอง เพื่อขอความช่วยเหลือ จุนอูไม่รอช้าที่จะเขียนที่อยู่บนป้ายและโพสต์ภาพพร้อมข้อความ #ต้องรอดชีวิตให้ได้

ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ อาหารก็เริ่มร่อยหรอลง น้ำเริ่มไม่ไหล โทรทัศน์เริ่มฉายภาพและข้อมูลซ้ำไปซ้ำมา และสัญญาณเริ่มขาดหาย ท้ายที่สุดหลังเผชิญหน้ากับซอมบี้บนอะพาร์ตเมน เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยก็ได้บินเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ขณะที่ช่วงท้ายของภาพยนตร์ ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถช่วยประชาชนได้ โดยหลังจากนี้ศูนย์ภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ จึงจะมีการออกแคมเปญขอความร่วมมือประชาชนอัปโหลดที่หลบภัยของตนเองลงบนโซเชียลด้วย

เกาหลีใต้ส่งข้อความเตือนภัยแบบเรียลไทม์

กลับมาสู่โลกความจริง กับการแจ้งเตือนภัย หรือ Emergency Alert จากหน่วยงานของรัฐ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอทั้งการแจ้งเตือนภัยพายุ แจ้งเตือนค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน รวมไปถึงการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง


ด้าน น.ส.กัลยาวีร์ แววคล้ายหงส์ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เคยเดินทางไปเกาหลีใต้ เล่าว่า เธอและครอบครัวเคยไปเที่ยวที่ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงเดือน พ.ย.2560 โดยเดินทางไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ไปถึงสนามบินอินชอน เกาหลีใต้ ก่อนซื้อซิมโทรศัพท์ Sim2Fly โดยระหว่างเดินทางเข้าเมือง หน้าจอมือถือก็มี SMS ภาษาเกาหลีขึ้นมา ซึ่งตนเองสามารถอ่านออกได้คำเดียวคือ Alert และมีเครื่องหมาย ! 

จากนั้นข้อความ SMS แจ้งเตือนเข้ามาอีก 2 ครั้ง จนแปลกใจ รวมถึงโทรศัพท์ของน้องสาวก็มีข้อความแจ้งเตือนเช่นกัน กระทั่งเลื่อนดูฟีดเฟซบุ๊ก ก็พบข่าวปูซานเกิดแผ่นดินไหว แต่ที่กรุงโซลก็สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ จากนั้นก็ได้เข้าไปยังทวิตเตอร์ซึ่งมีคนแคปหน้าจอ SMS เหมือนกับข้อความที่ได้รับ และบอกว่าเป็นระบบเตือนภัย

ประทับใจมากเพราะได้รับข้อความค่อนข้างเร็ว เราใช้ซิมที่นำมาจากประเทศไทย แต่ระบบเชื่อมต่อกันดีมาก แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ชาวต่างชาติจะไม่เข้าใจภาษาเกาหลีซึ่งหากเกิดเหตุในจุดที่เราอยู่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

นอกจากนี้ น.ส.กัลยาวีร์ ซึ่งได้ชมภาพยนต์เกาหลีเรื่อง #ALIVE ซึ่งเนื้อเรื่องในหนังมีซอมบี้บุก ก็มี SMS เตือนขึ้นมาเร็วมาก ก็ทำให้นึกถึง SMS ที่ได้รับเร็วมากเช่นเดียวกัน และหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น ก็คาดว่าจะได้รับการแจ้งเตือนแบบ real time เช่นกัน

ญี่ปุ่นแจ้งเตือนพายุ - สหรัฐฯ เตือนพื้นที่ประท้วง

อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความไม่ได้มีเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น หลายประเทศต่างก็มีการแจ้งเตือนภัยผ่านทางข้อความจากรัฐส่งถึงโทรศัพท์ประชาชน อย่างในประเทศญี่ปุ่นก็มีข้อความแจ้งเตือนภัยที่เรียกว่า J-Alert ซึ่งจะส่งขอความแจ้งเตือนภัยต่างๆ โดยเฉพาะภัยพายุที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญอยู่เสมอ ในสหรัฐอเมริกาเองก็มี Emergency Alert เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ การแจ้งเตือนให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อป้องกัน COVID-19 รวมไปถึงแจ้งเตือนเหตุประท้วงในแต่ละรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกรณีการประท้วงประธานีธิบดีสหรัฐอเมริกา และการประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์

 

ไทยเร่งพัฒนา SMS เตือนภัยธรรมชาติ

ขณะที่ประเทศไทย แม้จะไม่มีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัย ทำให้หลายคนไม่คุ้นชิน และไม่รู้จักกับ การแจ้งเตือนภัย หรือ Emergency Alert จากรัฐ จนมองว่าภาพยนตร์เรื่อง Alive นี้ ไม่ Make Sense แต่ประเทศไทยก็มีการพัฒนาเพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนภัยเช่นเดียวกัน โดยช่วงปลายเดือน ส.ค.ทีผ่านมา มีข่าวดีสำหรับคนไทยเมื่อภาครัฐร่วมลงนาม MOU กับ 5 โอเปอร์เรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการส่ง SMS เตือนภัยธรรมชาติผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมการส่งข้อความ

มุ่งบริการนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งข้อความจะมีทั้ง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน 

ก่อนหน้านี้ แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" ก็ได้มีการส่งข้อความแจ้งเตือนเฉพาะประชาชนที่ได้สแกนเช็กอินในพื้นที่เสี่ยงตามประวัติสอบสวนโรคของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งกรณีทหารอียิปต์ ก็ได้มีการส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนที่เคยไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง รวมถึงกรณีผู้ต้องขังใหม่ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งทำอาชีพดีเจที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ก็ได้มีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้เช่นเดียวกัน

 
ส่วนกรณีฝุ่น PM2.5 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ก็เคยมีแนวคิดที่จะแจ้งเตือนค่าฝุ่นผ่านข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) รองรับการเฝ้าระวัง และการพยากรณ์คุณภาพอากาศให้ครอบคลุมสารมลพิษที่สำคัญทุกชนิด รวมถึงการจัดทำระบบรายงาน และแจ้งเตือนให้ประชาชน แต่ขณะนี้ก็ยังไม่พบว่าเริ่มใช้งานหรือยัง

ทั้งนี้ การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกของภาครัฐอย่างระบบแจ้งเตือนภัย หรือ Emergency Alert ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งความหวัง เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และทันเหตุการณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง