มองอนาคตญี่ปุ่น ใต้เงา "โยชิฮิเดะ ซูงะ" ว่าที่ผู้นำคนใหม่

ต่างประเทศ
15 ก.ย. 63
12:04
712
Logo Thai PBS
มองอนาคตญี่ปุ่น ใต้เงา "โยชิฮิเดะ ซูงะ" ว่าที่ผู้นำคนใหม่
หลังจากที่พรรครัฐบาลญี่ปุ่นลงมติเลือก "โยชิฮิเดะ ซูงะ" เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อปูทางไปสู่การนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งความท้าทายของว่าที่ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่คือการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกให้ได้ หลังต้องพับแผนไปเนื่องจากการระบาดของ COVID-19

วันนี้ (15 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นเริ่มชัดเจนขึ้น หลังจากที่พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP เลือก "โยชิฮิเดะ ซูงะ" ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการปูทางสู่การลงมติของสภานิติบัญญัติ ในวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) เพื่อให้ซูงะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังชินโสะ อาเบะ ลาออกจากตำแหน่งที่ครองมานานมากกว่า 7 ปี เนื่องจากปัญหาสุขภาพ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา

โยชิฮิเดะ ซูงะ เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของสื่อด้วยภาพจำจากการเป็นผู้ประกาศชื่อรัชศกใหม่ เมื่อปี 2562 จนได้ฉายาว่า คุณลุงเรวะ เส้นทางการเมืองของซูงะเริ่มต้นจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นในเมืองโยโกฮามะ จนกลายมาเป็นมือขวาของอาเบะ เขาเป็นนักการเมืองญี่ปุ่นคนแรกที่เริ่มปราศรัยหาเสียงบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟ จนกลายเป็นแนวปฏิบัติของนักการเมืองคนอื่นๆ

 

ซูงะ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2555 คอยรับหน้าที่แถลงข่าวประเด็นใหญ่ๆ ของประเทศ ซึ่งการลงมติเลือกซูงะเป็นนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ย.) คาดว่าจะผ่านฉลุย เนื่องจากพรรค LDP ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

เจ้าภาพจัดโอลิมปิก เดิมพันสำคัญผู้นำคนใหม่

โจทย์ท้าทายของผู้นำคนใหม่ คือ การจัดโอลิมปิก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มบทบาทให้กองกำลังป้องกันตนเอง และการรับมือจีน ซึ่ง 2 ประเด็นแรกถือเป็นการสานต่อสิ่งที่อาเบะเริ่มต้นไว้ในช่วง 7 ปี 8 เดือนของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังทำไม่สำเร็จ แต่การแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ถือว่ามีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สิ่งที่พอจะเป็นไปได้ คือ การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2564 หลังต้องเลื่อนการแข่งขัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประเด็นนี้ถือเป็นหนึ่งในเดิมพันสำคัญที่สุดในขณะนี้ และอาจส่งแรงกระเพื่อมไปถึงคะแนนนิยมของรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

สุดท้ายคือ นโยบายต่างประเทศที่ยังคงสานต่อแนวทางของอาเบะและกระชับความสัมพันธ์ด้านต่างๆ กับสหรัฐอเมริกาให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การปิดล้อมจีนเพื่อจำกัดการขยายอิทธิพลในภูมิภาค ไปจนถึงการรับลูกยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีภารกิจรับมือกับ COVID-19 ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ปัญหาสังคมผู้สูงวัย และความไม่เสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน

ขณะที่นักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ซูงะยังคงอยู่ใต้อิทธิพลของอาเบะและมุ่งการเมืองกระแสหลักในพรรค จนขาดความโดดเด่น แม้ซูงะจะประสบความสำเร็จในฐานะโฆษกรัฐบาลที่สื่อสารกับประชาชน แต่การเป็นผู้นำประเทศต้องมีทั้งวาทศิลป์และเสน่ห์ ช่วงเวลา 1 ปีนับจากนี้ไปจนถึงเดือน ต.ค.2564 ถือเป็นบททดสอบวัดฝีมือของซูงะในการนำพาญี่ปุ่นให้ผ่านปัญหาต่างๆ ไปให้ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ซูงะ" คว้าหัวหน้าพรรคแอลดีพี สู่ว่าที่นายกฯ ญี่ปุ่น

"ชินโซ อาเบะ" นายกฯ ญี่ปุ่น เตรียมประกาศลาออกจากตำแหน่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง