องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯชวนคนไทยตรวจสอบงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน

อาชญากรรม
15 ก.ย. 63
15:46
642
Logo Thai PBS
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯชวนคนไทยตรวจสอบงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดตัวเครื่องมือใหม่ ‘จับโกงงบโควิด 4 แสนล้าน ด้วย ACT Ai’ ปลุกคนไทยทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบ ที่ปรึกษาสภาพัฒน์เผย ในอนาคต ทุกโครงการ ทุกนโยบายรัฐจะถูกเปิดเผยและติดตามผลด้วยข้อมูล

วันนี้ (15 ก.ย.63) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2563 ภายใต้แนวคิด “จับโกงโคตรง่ายแค่ปลายนิ้ว - Power of Data” โดยจัดงานในรูปแบบออนไลน์ อีเวนต์ จำกัดผู้เข้าร่วมงาน ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมร่วมรับชมการถ่ายทอดสดตลอดงานและแสดงพลังสู้โกงผ่านทางเฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันในครั้งนี้ หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงพลังของข้อมูลว่ามีความสาคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งการสืบค้น การจัดระเบียบ การเชื่อมโยง และการประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ก้าวต่อไปขององค์กรฯนับจากนี้ ยิ่งต้องการพลังจากประชาชนอีกหลายเท่ามาใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ในการสร้างระบบเฝ้าระวัง และร่วมกันเปิดโปงการกระทำผิด จัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการเปิดตัวเครื่องมือ 'จับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai' โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ดูแลโปรเจ็กต์ ACT Ai ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ล่าสุด ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาส่วนขยายของ “ACT Ai เครื่องมือสู้โกง” แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้าไปติดตามตรวจสอบที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว

 

ประกอบด้วย 4 ฟังก์ชันสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันง่ายขึ้น คือ การทำแผนที่แสดงรายละเอียดโครงการ ระบบติดตามสถานะโครงการ ปุ่มแสดงความคิดเห็น และเชื่อมโยงหน่วยงานรับร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส และระบบช่วยคัดกรองโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานภายในสิ้นปี 63 นี้ทาง covid19.actai.co

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวด้วยว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่จะมาช่วยต่อสู้กับคอร์รัปชัน 1 คือ การร่วมมือจากคนจำนวนมากที่เข้ามาช่วยให้ข้อมูลช่วยตรวจสอบช่วยเป็นหูเป็นตา และ 2 คือ ข้อมูลที่เข้าถึงได้ โปร่งใสเพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน หรือแม้กระทั่งใช้ป้องกันตัวเองจากการถูกกล่าวหาก็ตาม ซึ่งประเทศไทยตอนนี้เรามีกำลังคนที่พร้อมช่วย พร้อมตรวจสอบแล้วทั้งในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ที่หันมาจับตาดูการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น หรือภาครัฐเองที่เริ่มขยับตัวเองมาใช้ระบบดิจิทัล

ACT Ai จะเข้ามาเป็นหนึ่งในอาวุธด้วยเทคโนโลยีข้อมูล วันนี้ด้วยพลังของข้อมูล การจับโกงจะง่ายแค่ปลายนิ้วหัวใจสำคัญของเครื่องมือ ‘จับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai' คือ การที่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกพื้นที่สามารถใช้สิ่งที่ตัวเองสนใจ อยู่ใกล้ มีความรู้มาร่วมจับตา เปิดโปงการทุจริตได้เลย 

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พูดคุยหัวข้อ 'Big Data as a Solution' กล่าวว่า งบฟื้นฟู COVID-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาทเป็นงบประมาณที่มีประโยชน์จะช่วยบรรเทาให้ผ่านวิกฤตไปได้บ้างหรืออย่างน้อยไม่เลวร้ายไปกว่าเดิมและยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้คนได้มีงาน มีอาชีพ ปรับตัวในภาวะวิกฤตแบบนี้ ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ถือว่าคุ้มมากแต่สิ่งที่สำคัญคือผลลัพธ์ของโครงการต้องตอบโจทย์ที่พูดไปได้จริง ไม่ใช่การนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน เราจึงริเริ่มแนวคิดที่จะนำข้อมูลของงบฟื้นฟู 400,000 ล้านบาทนี้เข้าระบบ Open Data เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อให้งบ 400,000 ล้านบาทเกิดประโยชน์สูงสุด

 

พลังของข้อมูลไม่ใช่เพียงการเก็บข้อมูลเอาไว้ การทำ Big Data จะไม่มีค่าเลย ถ้าข้อมูลไม่ถูกนำมาใช้ หัวใจสำคัญ คือ เกาให้ถูกที่คัน แต่ถ้าเราไม่มีข้อมูล จะไม่รู้เลยว่าต้องเกาตรงไหน แก้ปัญหาให้ถูกจุดได้ยังไงในอนาคตทุกโครงการทุกนโยบายของรัฐ จะถูกเปิดเผยและติดตามผลด้วยข้อมูลเพื่อให้ตอบโจทย์เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง 

ในการแถลงข่าวเปิดตัวเครื่องมือจับโกง ACT Ai องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมที่ผลงานติดตามตรวจสอบข้อมูลทุจริตคอร์รัปชั่นจากภายในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานครั้งนี้

นายเดวิด เจ้าของเพจ CSI LA เปิดเผยผ่านไลฟ์สด หัวข้อ 'สืบ-จาก-ข้อมูล' ว่า สร้างเพจขึ้นเพื่อให้คนหลากหลายได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นและค้นหาความจริงกันในฐานะที่เป็น Data Scientist (ผู้นำข้อมูลไปวิเคราะห์) จึงเชื่อในข้อมูลและไม่ได้ทำตัวเป็นผู้รู้ แต่เป็นผู้ที่จุดประเด็นตั้งคำถาม ดังนั้นเห็นด้วยที่รัฐต้องเปิดข้อมูลงบฟื้นฟู COVID-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาทกับสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงสามารถตรวจสอบได้

Data without an action is useless ตอนนี้แค่มีสมาร์ตโฟนก็เป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการช่วยจับโกงได้แล้ว เราต้องคิดว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราเห็นสิ่งสกปรก เราก็ต้องออกมาเก็บกวาดบ้านเมืองของเรา 

ขณะที่ตัวแทนเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน กล่าวว่า การทำงานของหมาเฝ้าบ้านจะร่วมมือกันเป็นกลุ่มตามความสามารถความถนัดแตกต่างกันไป เริ่มจากพยายามเสาะหาสิ่งที่ต้องสงสัยว่าทุจริต ส่งต่อให้ทีมค้นหาและตรวจสอบข้อมูล สุดท้ายก็เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ให้กระแสสังคมช่วยเป็นพลังหนึ่งในการเปิดโปง ยกตัวอย่างกรณีทุจริตอาหารกลางวันนักเรียน มีผู้ปกครองและสื่อช่วยตรวจสอบทำให้ภาครัฐสั่งตรวจสอบทั่วประเทศ

เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งหรือมีอำนาจในการที่จะมาช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ทุกคนมีสื่อ คือ โทรศัพท์ อยู่ในมือแล้ว ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพื่อปกป้องบ้านเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ผู้ผลักดันการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างสังคมการเมือง การใช้งบประมาณที่โปร่งใสและตรวจสอบ ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านวิดีโอ หัวข้อ ‘Disrupting Corruption’ ว่า เมื่อปี 2017 กระทรวงยุติธรรมของประเทศไต้หวันได้จัดโครงการให้ประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน จนพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ให้ได้เข้ามาตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่เกิดจากรัฐ เป็นการทำงานร่วมกัน และการสร้างความร่วมมือกันหลายภาคส่วน

นอกจากนี้รัฐบาลไต้หวันยังพยายามผลักดันแนวคิด e-Government ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการใช้บริการทางราชการผ่านรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารราชการ ส่งเสริมให้ประชาชนแบ่งปันข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม gov.tw เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป และในปี 2011 มีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษขึ้นเพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้นำแนวคิดในการสร้างโครงการอาสาสมัครมาปฏิบัติ โดยให้ประชาชนมาสมัครเป็นอาสาสมัครต่อต้านคอร์รัปชัน และให้อาสาสมัครเหล่านี้เข้าไปช่วยงานในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง