ส.ว.เชื่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” และธุรกิจท่องเที่ยวช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัว

เศรษฐกิจ
16 ก.ย. 63
09:12
569
Logo Thai PBS
ส.ว.เชื่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” และธุรกิจท่องเที่ยวช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัว
กมธ.เศรษฐกิจฯ วุฒิสภา วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะค่อยๆ ฟื้นตัว เชื่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” และธุรกิจท่องเที่ยว จะช่วยอุ้มการจ้างงานและทำให้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ แม้รัฐบาลจะเก็บรายได้ลดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า

การประชุมวุฒิสภาวานนี้ (15 ก.ย.2563) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นประธาน ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

สาระสำคัญระบุว่า หลังจากประเทศไทยได้ใช้มาตรการ "ปิดประเทศ หรือ ปิดเมือง " (Lock Down) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าว่าจีดีพีของไทยจะลดลง 6.7% ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกใน ปี 2564

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2563 จะหดตัว 7.8 - 7.3% มีสาเหตุจากการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะปรับตัวลดลง สอดคล้องกับทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

กมธ.ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการกิจการ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการดูแลและเยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 1 - 3 และมาตรการ "เราเที่ยวด้วยกัน" เพื่อช่วยเหลือ

ธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศ

ทั้งนี้การประเมินความเสี่ยงของฐานะการคลัง หากเศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการไว้ 1% จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ลดลงตลอด 5 ปีข้างหน้า ( 2563 - 2567) เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้เดิม 1%

"ดังนั้นหากใช้ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ สศช. เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2563 จะหดตัวลดลง – 7.5% โดยคาคว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ลดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า เฉลี่ยปีละประมาณ 3.2 แสนล้านบาท" (ลดลงจากสมมติฐานของแผนการคลัง ระยะปานกลาง 11.3%)"

แนะคลังเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษี

กมธ.ฯ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล สำหรับเป็นแหล่งเงินส่วนหนึ่งในการชำระหนี้

รวมไปถึงจัดทำสวัสติการและลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ประเทศสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวได้ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บภาษี การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ และระยะยาวต้องมีแนวทางการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net)

รัฐบาลต้องบูรณาการระบบภาษีเข้ากับระบบสวัสดิการ เพื่อให้จัดทำสวัสดิการได้อย่างครอบคลุม ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อน

โดยการสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ให้กับประชาชนให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับประชาชน การให้ความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน (Financial Literacy) และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกองทุนด้านสวัสติการและเงินออม

ทั้งนี้จากบทเรียนวิกฤติในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการมีฐานข้อมูล ที่บูรณาการข้อมูลรายได้ของประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันการส่งเสริมการออมภาค ประชาชนให้ครอบคลุมและเพียงพอ ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประชาชนระดับฐานรากและกลุ่มรายได้ปานกลาง 

ที่ผ่านมาประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐบาล เพื่อให้ภาคประชาชนมีความแข็งแกร่งทางการเงิน สามารถรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติตง ๆ ในอนาคตได้ โดยไม่ต้องรอรับการพึ่งพาจกรัฐบาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางการคลังของประเทศไทยในอนาคตด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง