ไทยติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 10 คนมาจาก 5 ประเทศ

สังคม
16 ก.ย. 63
11:52
710
Logo Thai PBS
ไทยติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 10 คนมาจาก 5 ประเทศ
ศบค.เผยไทยมีผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่เพิ่มอีก 10 คน เดินทางกลับมาจาก 5 ประเทศ อินเดีย 2 คน อินโดนีเซีย 2 คน เมียนมา 1 คน เอธิโอเปีย 1 คน และเยเมน 4 คน ส่วนทั่วโลกป่วยสะสม 29,724,117 คน ด้านหมอยง ไขคำตอบผลตรวจนักบอลดัง ทำไมถึงหลุดตรวจไม่เจอเชื้อ

วันนี้ (16 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่าในไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 10 คน เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักใน State Quarantine โดยเดินทางกลับจาก 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย 2 คน อินโดนีเซีย 2 คน เมียนมา 1 คน เอธิโอเปีย 1 คน และเยเมน 4 คน รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,490 ราย หายป่วยแล้ว 3,316 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 116 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน

ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลก รวม 29,724,117 คน รักษาหาย 21,538,547 คน เสียชีวิต 939,140 คน โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมมากสุดคือ สหรัฐอเมริกา 6,788,147 คน รองลงมาอินเดีย 5,018,034 คน บราซิล 4,384,299 คน รัสเซีย 1,073,849 คน เปรู 738,020 คน

 

ไขข้อสงสัยตรวจ "นักบอล" ทำไมถึงหลุด

ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ไขข้อสงสัยเรื่องการตรวจ COVID-19 นักฟุตบอล ระบุว่า COVID-19 กับการตรวจวินิจฉัยหลายคนฟังข่าวเรื่องของนักบอล แล้วคงสงสัยเรื่องการตรวจวินิจฉัย การตรวจกรองเพื่อหาโรค เราจำเป็นจะต้องหาวิธีให้มีความไวสูงสุด เพื่อไม่ให้หลุดยกตัวอย่างการตรวจกรองเลือดผู้มาบริจาคโลหิต เราต้องการความไวสูงมาก

ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบบ B C และ HIVในทำนองเดียวกัน COVID-19 การตรวจกรองผู้อยู่ใน state quarantine เราจึงจำเป็นต้องใช้วิธีที่มีความไวสูงมาก คือ real time PCR วิธีนี้เป็นการตรวจหา RNA ของไวรัส ในการขยายสารพันธุกรรมเป็นล้านล้านเท่า เพื่อตรวจจับ จึงมีความไวสูงมาก แต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงผลบวกปลอม แต่ถึงมีผลบวกปลอม และมีการยืนยันต่อมาก็ยังดีกว่าที่จะให้เกิดผลลบปลอม เพราะจะทำให้โรค COVID-19 หลุดรอดไปได้ในการตรวจเพื่อการรักษา

เราจำเป็นจะต้องมีความจำเพาะสูง เพื่อจะได้ไม่รักษาผิด ในกรณีของนักฟุตบอล เป็นที่น่าสนใจมาก การตรวจจากต้นทาง ไม่พบเชื้อ เราไม่ทราบว่าตรวจด้วยวิธีอะไร การตรวจที่ ASQ Alternative state quarantine ใช้วิธี real-time RT PCR ความไวค่อนข้างสูง ถ้าหลุดรอด ผู้นั้นจะต้องมีเชื้อน้อยมากมาก

 

โอกาสติดผู้อื่นจะยิ่งน้อยมาก แต่เมื่อพ้น state quarantine ไปแล้วประมาณ 10 วัน การตรวจมีการพบ RNA ของไวรัส แต่เมื่อผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีก 3 วันต่อมา การตรวจไม่พบไวรัสหรือ RNA และอีก 3 วันต่อมา ก็ไม่พบ RNA อีกเป็นครั้งที่ 2 และการตรวจภูมิต้านทานของผู้ป่วยรายนี้ ก็ไม่พบทั้ง IgG IgM IgA น่าจะต้องมีการติดตามต่อไป ถ้ามีการติดเชื้อจริง น่าจะตรวจพบภูมิต้านทานเกิดขึ้นแต่ขณะนี้เราบอกได้เพียงว่า 6 วันหลังตรวจพบเชื้อ เราตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ด้วยวิธีการหลายวิธี การดูแลผู้ป่วยหรือการควบคุมการระบาด บางครั้งเราจะไม่แปลผลจากกระดาษแผ่นเดียว

เราคงจะต้องดูจากกระดาษหลายๆแผ่น ประวัติผู้ป่วย และข้อมูลทางคลินิก รวมทั้งความเป็นไปได้ต่างๆมาประกอบกัน ถึงจะบอกได้ว่าโอกาสที่จะติดโรคไปสู่ผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน การติดเชื้อเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง ความผิดพลาดในการตรวจต่างๆรวมทั้งความไว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเพราะทุกอย่างไม่มีอะไร 100% ความรู้จะเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อสู้กับ COVID-19 เลยอยากเชิญชวน และบอกต่อถึงบุตรหลาน มาช่วยกันเรียนรู้จากบทเรียนออนไลน์ ที่ผมกับอาจารย์ยืนทำขึ้นบทเรียนชื่อ COVID-19 และระบาดวิทยา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ชี้แจง "เมียวดี" เคอร์ฟิว ปมเด็กเมียนมาจากไทยติด COVID-19

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง