ครบรอบ 115 ปี ชาตะกาล “มนตรี ตราโมท” ครูใหญ่ของนักเรียนนาฏศิลป์

ศิลปะ-บันเทิง
23 มิ.ย. 58
15:26
195
Logo Thai PBS
ครบรอบ 115 ปี ชาตะกาล “มนตรี ตราโมท” ครูใหญ่ของนักเรียนนาฏศิลป์

ในอดีต การศึกษาดนตรีไทยผู้เรียนจำเป็นต้องฝากตัวเป็นศิษย์ตามบ้านครูดนตรีผู้ใหญ่ และเรียนรู้ด้วยการต่อเพลงกับผู้สอน ซึ่ง ครูมนตรี ตราโมท นับเป็นคนแรกๆ ที่รวบรวมความรู้เป็นตำราให้นักเรียนสามารถอ่านและฝึกทบทวนด้วยตัวเอง ในวาระครบรอบวันเกิด 115 ปี บ้านโสมส่องแสงจึงเต็มไปด้วยลูกศิษย์นาฏศิลป์จากทั่วประเทศ ติดตามในดนตรีมีเรื่องเล่า

ปลายนิ้วที่บรรจงหลากทำนองเพลง ขอมทรงเครื่องเถา บนจะเข้อย่างคล่องแคล่ว ฝีมือบรรเลงของ กรรณิกา นิลสาริกา นักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี ที่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ ในโอกาสครบรอบ 115 ชาตะกาล มนตรี ตราโมท ครูใหญ่ของบรรดานักเรียนนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นผู้แต่งหลักสูตรตำราดุริยางคศาสตร์ไทยภาควิชาการ ฉะนั้น เมื่อถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี บรรยากาศบ้านโสมส่องแสงที่เคยเงียบเหงา จึงคึกคักขึ้นด้วยบรรดาลูกศิษย์ที่สืบทางเพลงและนักเรียนนาฏศิลป์ ที่มารวมตัวกันบรรเลงบทเพลงของ ครูมนตรี ตราโมท เพื่อแสดงความรำลึกถึง

ห้องทำงานกลางบ้านที่ทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่บรรยากาศยังคงเดิมเหมือนก่อนเจ้าของบ้านจากไปในปี 2538 บทเพลงชมอาหารคาวหวานที่เขียนค้างไว้ยังถูกวางอยู่บนโต๊ะ ที่ครูมนตรีใช้แต่งเพลงไทยไว้กว่า 200 เพลง รวมถึงเพลงในวาระต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน เพลงรำวงมาตราฐาน แม้ปัจจุบันเสียงดนตรีในบ้านโสมส่องแสงไม่ได้ดังกังวาลเหมือนในอดีต หากปณิธานของครูมนตรีที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมเพลงรอบตัวคนไทย ยังคงถูกสืบต่อโดยลูกหลานที่วางแผนฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับเจ้าของบ้านโสมส่องแสง ผ่านการเผยแพร่ผลงานเพลงของครูมนตรีที่แต่งไว้ในวาระต่างๆ เป็นประจำทุกปี

ปัจจุบันบ้านดนตรีโสมส่องแสงหลือผู้สืบทอดทางดนตรีไม่มาก หลัง ศิลปี ตราโมท บุตรชายคนรองที่รับช่วงต่อเสียชีวิตลงในปี 2555 หากทายาทและเหล่าศิษย์นักเรียนนาฏศิลป์ ก็ตั้งใจว่าจะพยายามฟื้นฟูให้เสียงเพลงของครูมนตรีให้ยังคงอยู่และยังคงมีความหมายกับสังคมไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการมากที่สุด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง