เคาะแจกเงิน 3,000 บาท 10 ล้านคน ลงทะเบียน ต.ค.นี้

เศรษฐกิจ
16 ก.ย. 63
16:47
43,213
Logo Thai PBS
เคาะแจกเงิน 3,000 บาท 10 ล้านคน ลงทะเบียน ต.ค.นี้
ศบศ.เห็นชอบหลักการ โครงการคนละครึ่ง แจกเงิน 3,000 บาท 10 ล้านคน วงเงินกว่า 51,000 ล้านบาท จำกัดสิทธิ์ห้ามผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก เข้าโครงการ เริ่มลงทะเบียนกลางเดือน ต.ค.นี้

วันนี้ (16 ก.ย.2563) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกสำนักงชนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบศ.เห็นชอบหลักเกณฑ์โครงการคนละครึ่ง โดยภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์โดยอาศัยวิธีการร่วมจ่าย หรือ Co-pay ร้อยละ 50 ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน จำนวน 10 ล้านคน จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2563 

สำหรับผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และลงทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.นี้

ขณะเดียวกัน จะเปิดรับลงทะเบียนร้านค้าในโครงการ ซึ่งไม่ใช่นิติบุคคล เช่น ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ส่วนร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่สามารถเข้าร่วมได้ พร้อมเพิ่มวงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิม คนละ 200-300 บาท เป็น 500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แทน และไม่สามารถเข้าโครงการคนละครึ่งได้ คาดใช้วงเงินรวม 51,000 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี สัปดาห์หน้า

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ศบศ. ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสมาร์ทวีซ่าเพื่อดึงนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาในไทย โดยให้ปรับปรุงเงื่อนไขให้เชื่อมโยงกับการลงทุน และการถือครองหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์และพำนักในไทยในระยะยาว พร้อมกับให้ ททท. ศึกษาการปรับเงื่อนไขกลุ่มนักท่องเที่ยวอีลิทการ์ดให้เชื่อมโยงกับการลงทุนในไทยด้วย โดยนำรายละเอียดกลับมาเสนอในที่ประชุม ศบศ. อีกครั้ง

ศบศ.ยังเห็นชอบให้ปรับมาตรฐานเวลาการได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้าหรือระยะเวลา Credit Term เพื่อลดผลกระทบให้กับเอสเอ็มอีที่ทำการค้ากับคู่ค้าและประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากเครดิตเทอมที่นานขึ้น 60-120 วัน จึงกำหนดมาตรฐานให้เครดิตเทอมที่เหมาะสมควรโดยให้กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กำหนดการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการ Credit Term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30-45 วัน พร้อมกำหนดบทลงโทษ และกำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit Term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ด้วยเพื่อลดผลกระทบให้เอสเอสเอ็มอี

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง