เปิดใจ "รุ้ง" ปนัสยา ก่อนชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.

Logo Thai PBS
เปิดใจ "รุ้ง" ปนัสยา ก่อนชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "รุ้ง" น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เกี่ยวกับการจัดชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.นี้

ในปรากฎการณ์ความเห็นต่างทางความคิดของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะประเด็นทั้งการใช้สถานที่ "ธรรมศาสตร์" จัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ ที่ ม.ธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ และ การชูประเด็น "ปฏิรูปสถาบัน" เป็นธงนำในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เปิดประเด็นปราศรัยสร้างความสะเทือนเป็นวงกว้างในสังคมไปแล้วครั้งหนึ่งจากการจัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในวันเปิดเทอมของนักศึกษาธรรมศาสตร์  10 ส.ค.63 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  และ "รุ้ง" เป็นผู้ขึ้นเวทีอ่านประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1" เกี่ยกับการปฏิรูป 10 ข้อ 

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "รุ้ง" น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เกี่ยวกับการจัดชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 (19 กันยายน63)  

 

การชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ ยังยืนยันตามเดิมหรือไม่ ?

ยืนยันไม่เปลี่ยนสถานที่ค่ะ ถ้าเขาปิดประตู เราก็จะใช้ ถ้าเขาล็อกโซ่ เราจะตัดออก เรายืนยันจะใช้ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่จัดชุมนุมแน่นอน นี่เป็นจิตวิญญาณของธรรมศาตร์ คือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรม ต่อสู้กับความอยุติธรรม และสู้เพื่อประชาธิปไตย 

 

 

ย้ำแจ้งรายละเอียดการชุมนุม ให้ทางมหาวิทยาลัยรับทราบตามเงื่อนไขแล้ว ?

ก่อนหน้านี้กลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ได้แจ้งรายละเอียดให้มหาวิทยาลัยรับทราบ และมีอาจารย์ที่ปรึกษา (รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.)  ลงนามรับรองตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนดแล้ว  แต่การไม่ให้ใช้สถานที่จัดชุมนุม เป็นการทำลายจิตวิญญาณของธรรมศาตร์อย่างร้ายแรง ขอให้ผู้บริหารพิจารณาตัวเองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่สมกับที่ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพแล้วหรือไม่ ซึ่งการใช้ธรรมศาสตร์จัดชุมนุม เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด และสะดวกสุดสำหรับการให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม

 

 

 

 

ถ้ามวลชนมีมากจนล้น ม.ธรรมศาสตร์ รุ้งเคยประกาศว่า จะพาคนไปยึดสนามหลวง ?

แน่นอนค่ะ หนูยืนยันว่า ถ้าคนล้นออกมา ก็จะไปรวมตัวกันที่สนามหลวงปักหลักค้างคืนกันที่นั่น เพราะหนูเห็นว่าสนามหลวง เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ ไม่ว่าจะใครก็ตาม และที่ผ่านมาหลายปี มันก็เป็นเช่นนั้น ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คน 

 

 

เป็นห่วงอะไรมากที่สุด ในการจัดการชุมนุม 19 - 20 ก.ย.นี้ ?

หนูไม่ได้ห่วงเรื่องการปะทะระหว่างมวลชน แต่ถ้ามีจริง ๆ เราก็เตรียมพร้อมความด้านความปลอดภัยไว้แล้ว ไม่อยากให้ใครเจ็บตัว แม้กระทั่งตัวรุ้งเองก็ตาม  กลุ่มเราเตรียมทุกอย่างรัดกุมมาก ทั้งการรักษาความปลอดภัย การจัดสถานที่ การดูแลจุดต่าง ๆ อาหารการกิน การปฐมพยาบาล รถห้องน้ำ  ส่วนพื้นที่รอยต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม คิดว่าเราเตรียมพร้อมเรื่องการเจรจา การรับมือด้านต่าง ๆ  อยากให้ประชาชนวางใจเชื่อใจว่า กลุ่มแนวร่วมฯ เตรียมการไว้อย่างดี  การชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หนูยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกเพียงเพราะใครมาบอกให้เรายกเลิก  เพียงเพราะใครห้ามไม่ให้เราจัด นี่เป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของเราโดยสันติ  

 

 

การจัดชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ประเด็นสำคัญของกลุ่มแนวร่วมฯ  คือ การชูธงพุ่งเป้าไปที่ปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ  แต่เรื่องนี้ทำให้ผู้คนในสังคมเห็นแตกต่างกันรุนแรง การจัดชุมนุมกลายเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ?

หนูเข้าใจนะคะว่าคนที่ไม่เห็นด้วยมีเยอะ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทยที่จะพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ และพูดข้อเรียกร้องที่จริงจังกันขนาดนี้ แต่หนูอยากให้เขาลองเปิดใจรับฟัง เพราะสิ่งที่เราเสนอ 10 ข้อ เรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ก็เพื่อให้คงอยู่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ได้กับสังคมปัจจุบันในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อให้สถาบันฯ เป็นที่เทิดทูนเป็นมิ่งขวัญของประชาชนต่อไป

 

 

วันที่ 10  ส.ค.ที่ผ่านมา จากเวทีชุมนุมธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นการประกาศดันเพดาน แล้ววันที่ 19 ก.ย.นี้ จะดันทะลุเพดานอีกไหม ?

ตอนนี้เพดานมันไม่มีแล้วค่ะ ตอนนี้เป็นการประคองให้ 10 ข้อเรียกร้องนี้สำเร็จ คือการขอให้ช่วยกันพยุงช่วยกันดันจนกว่า 10 ข้อนี้จะสำเร็จ แต่ความร่วมมือแน่นอนว่าต้องมาจากรัฐบาล รัฐสภาด้วยที่ต้องรับฟัง แล้วดำเนินการจริงจัง 

 

 

ประเด็นเจรจากับทางมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัย ขอให้ยกเลิกปราศรัยเรื่อง  10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ ?

ไม่ยอมค่ะ เรื่องสถาบันฯ ต้องถูกพูดถึง เราจะไม่หยุดพูดเพียงเพราะใครสั่งให้เราหยุด  ถ้าเราต้องการการพัฒนาการเมือง เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย  เราพร้อมพูดคุยกับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเป็นอย่างไร มีการรักษาความปลอดภัยตรงไหน มาตรการจัดชุมนุม แต่เราจะไม่ยอมเรื่องการเจรจาเนื้อหาปราศรัย ถ้าจะขอให้ยกเลิก  ซึ่งขณะนี้เราไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยถูกกดดันจากใคร หรือ เพราะกลัวเอง จึงไม่อยากให้จัดการชุมนุม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการเจรจาระหว่างนักศึกษา และ ทางมหาวิทยาลัย หรือ ตำรวจ (ตามเงื่อนไขข้อ 3 ในเอกสารแนวทางปฏิบัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

 

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทางมหาวิทยาลัย ไม่ให้จัดชุมนุม เพราะมีกลุ่มคนวงกว้าง ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นการจัดชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องสถาบันฯ ที่จะพูดในที่สาธารณะ ?

ในระบอบประชาธิปไตย เรายืนบนหลักของเสรีภาพ ทั้งการแสดงออกและการแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งธรรมชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเราสามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ และในชีวิตประจำวันในมหาวิทยาลัยยามปกติ เราก็พูดเรื่องสถาบันฯ เป็นปกติ แต่ไม่มีใครว่าอะไรเพราะทุกคนเคารพสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของเรา ของทุก ๆ คน หนูคิดว่าเนเจอร์ (ธรรมชาติ)ของธรรมศาตร์เป็นอย่างนี้ แต่ผู้บริหารไม่เห็นหรืออย่างไร ซึ่งผู้บริหารเองก็เป็นคนที่ทำให้เห็นบรรยากาศความเป็นเสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์ ก็เพื่อให้เปิดรับคนไม่ใช่หรือ เพื่อเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ และเมื่อมันกำลังเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่ให้ใช้สถานที่ ทำแบบนี้กับเราไม่ได้  จะพูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่จะไม่พูดเรื่องสถาบันฯ ไม่ได้ 

 

 

คาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรมากที่สุดในข้อเสนอ 10 ข้อนี้ ?

หนูคาดหวังเรื่องการยกเลิก มาตรา 112 เพราะเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง ถูกวิจารณ์มาระยะหนึ่งแล้วในสังคม และมีการวิพากย์วิจารณ์ด้วยเหตุผลตามหลักการ ซึ่งมาตรานี้ ถ้ายังมีอยู่ จะทำให้ผู้คนไม่กล้าออกมาวิจารณ์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปสถาบันฯ ได้มากที่สุด    

 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกแถลงการณ์ให้ผู้บริหารธรรมศาสตร์พิจารณาตัวเอง ที่ไม่ให้จัดการชุมนุม หมายถึงอะไร ?

อยากให้มหาวิทยาลัย ทบทวนอีกรอบว่า สิ่งที่อาจารย์ประกาศออกมาไม่ให้เราจัดชุมนุม สมควรแล้วหรือไม่ อยากย้ำอีกครั้งว่า อาจารย์เป็นอาจารย์ของธรรมศาสตร์ เป็น อธิการบดีของธรรมศาสตร์ ที่เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีประวัติศาตร์ทางการเมืองมายาวนาน ขอให้ทบทวนอีกรอบว่า สิ่งที่ธรรมศาสตร์กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ตามหลักการประชาธิปไตยและหลักเสรีภาพทุกตารางนิ้วตามที่อาจารย์บอก  หนูผิดหวังมากเพราะครั้งแรกที่หนูเข้ามาตอนปฐมนิเทศก์มหาวิทยาลัย มีการพูดถึงจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ มีการแสดง แสงสีเสียง ที่ทำให้เราซึบซับการต่อสู้ของพี่ ๆ  รุ่นก่อน พูดถึงความเป็นธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัย เป็นตลาดวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ตอนนี้ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องการที่สุด ต้องการใช้ชื่อธรรมศาสตร์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่กลับไม่ให้เราใช้   

 

ในฐานะเป็นหนึ่งในแกนนำหลัก อยากเห็นภาพหลังการเสร็จการชุมนุม 19 -20 ก.ย.63 อย่างไรบ้าง?

มองว่า 10 ข้อเสนอของเรา และข้อเสนออื่น ๆ บนเวทีนี้ จะถูกรับฟังและนำไปดำเนินการอย่างจริงจัง จะต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนได้  คาดหวังว่าหลังจากวันที่ 19 -20 ก.ย. นี้ จะมีการนำเสนอข้อเสนอของเราไปดำเนินการ อย่างค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปก่อนก็ได้ แต่ขอให้เขาทำกันจริงจัง รวมถึงการขับเคลื่อนตามแนวทาง 3 ข้อเรียกร้องที่กลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" เคลื่อนไหว คือ หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำไปควบคู่กัน


การจัดการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาตั้งแต่ต้นปี รวมถึงของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของรัฐสภา - รัฐบาลอย่างไรบ้าง ?

ที่ผ่านมา หนูมองว่า สภาไร้ประโยชน์ เพราะถ้าสภาฯ ขับเคลื่อนอะไรได้จริง พวกหนูไม่จำเป็นต้องโดดเรียนมาทำกิจกรรม หรือขับเคลื่อนอะไร เวลานี้ เป็นเวลาของการขับเคลื่อนนอกสภาฯ ของนักศึกษา ของภาคประชาชน มาส่งเสียงความต้องการของเรา แต่สภาฯ ไม่เคยพูดถึง 

สภาฯ ควรรับข้อเสนอของเราเพื่อไปพูดคุยในสภาฯ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ 10 ข้อเรียกร้องข้อนักศึกษา ทำให้มันออกมาเป็นรูปธรรมจริง ๆ ทำตามข้อเสนอจริง ๆ มันอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย แต่สภาก็ต้องทำให้เห็นว่า ทำได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่รับฟังในชั้นกรรมาธิการฯ  ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าว่าต่อไปจะไม่ใครเชื่อมั่นระบบรัฐสภา

 

เรื่อง/ภาพ : ภัทราพร ตั๊นงาม 

ข้อมูลเพิ่มเติม : 
- น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 
- เป็นหนึ่งในแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งปรเทศไทย (สนท.)
- ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปี 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ธรรมศาสตร์" กับการปฏิรูป ผ่าประเด็นร้อนก่อนชุมนุม 19 ก.ย.นี้

เช็กเส้นทางเลี่ยงชุมนุมใหญ่ มธ.ท่าพระจันทร์ 19 ก.ย.นี้ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง