พิรุธ! กรมที่ดินซื้อเครื่องรังวัดจีน งบฯสูงเกินจำเป็น

การเมือง
18 ก.ย. 63
14:03
696
Logo Thai PBS
พิรุธ! กรมที่ดินซื้อเครื่องรังวัดจีน งบฯสูงเกินจำเป็น
กมธ.งบฯ โควตา “เพื่อไทย” ชี้กรมที่ดินตั้งงบฯ เพิ่มประสิทธิภาพรังวัดสูงกว่าที่ควรเป็น พบมีบริษัทจีนแห่งเดียวชนะประมูลตั้งแต่ ปี '59 เทียบสเปกเครื่องกับยุโรปรัศมีรังวัดน้อยกว่า และต้องควักงบฯ เพิ่มอีก 30% เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่

วันนี้ (18 ก.ย.2563) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กมธ.งบประมาณ ปี 2564 โควตาพรรคเพื่อไทย อภิปรายตั้งข้อสังเกตการตั้งงบฯ ของกรมที่ดิน โดยระบุว่า ขอตั้งข้อสังเกตกรณีกรมที่ดินตั้งงบฯ เพิ่มประสิทธิภาพระบบดาวเทียม 258 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้อาจเป็นการตั้งงบฯ เกินจำเป็น

หลักการโครงการนี้ คือการใช้ระบบดาวเทียมรังวัดที่ดินแทนวิธีดั้งเดิม โดยจะต้องมีการตั้งเสาสัญญาณเป็นสถานีรังวัด เรียกว่า CORS และจัดซื้อเครื่องรังวัดเคลื่อนที่ เรียกว่า ROVER ซึ่งอนาคตจะปรับเป็นระบบนี้ทั้งประเทศ ที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดซื้อ CORS ที่อยู่ในระดับเทียร์ 3 มีรัศมี 20-80 กม. โดยจัดซื้อตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมา และมีเพียงบริษัทเดียวที่ชนะการประมูลราคา คือ “บริษัท CC จำกัด” และชนะประมูลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

บริษัท CC จำกัด เป็นบริษัทจีน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าสาเหตุที่ซื้อจากบริษัทจีน เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีจีนดีกว่าประเทศอื่น ทั้งที่กรมแผนที่ทหารใช้เครื่องแบบเดียวกัน โดยใช้ญี่ห้อไลก้าผลิตจากสวิตเซอร์แลนด์ มีราคาเท่ากับเครื่องมือที่กรมที่ดินตั้งไว้

กรมที่ดินตั้งสเปกราคายุโรป แต่ซื้อของจีน

เมื่อเทียบสเปกเครื่องจาก 2 แหล่งผลิต พบว่าของยุโรปมีรัศมีไกลกว่า คือ 80 กม. ขณะที่จีนไม่เกิน 50 กม. ส่งผลต่อการตั้งเรดาร์หรือการตั้งเสาสัญญาณที่ต้องตั้งถี่ขึ้น และต้องเพิ่มงบฯ ในอนาคตกว่า 30% สำหรับข้ออ้างที่กรมที่ดินจำเป็นต้องตั้งถี่อ้างข้อมูลต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งใช้พยากรณ์อากาศและแผ่นดินไหว เป็นการยกข้อมูลขึ้นมาอ้าง

 

ทั้งนี้เมื่อเทียบราคาจัดซื้อตั้งแต่ ปี 2559 มีเพียงปีแรก คือ ปี 2559 ที่ราคาของจีนและยุโรปต่างกันมาก โดยราคาจีนอยู่ที่ 186 ล้านบาท ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์อยู่ที่ 149 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นราคาต่างกันไม่มาก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อ ROVER ราคาท้องตลาดอยู่ที่ 2 แสนบาท ขณะที่กรมที่ดินจัดซื้อเครื่อง 4.9 แสนบาท สูงกว่าถึง 2 เท่า โดยมีบริษัทหลายบริษัทเสนอราคาเข้ามา แต่ถูกตีตกทั้งหมด โดยไม่ผ่านขั้นตอนด้านเทคนิค

บริษัทอื่นเสนอมาถูกจับตก ไม่มีบริษัทอื่นได้แม้ราคาถูก ทดสอบเทคนิคสู้ไม่ได้

ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ปี 2563 ตั้งงบฯ ซื้อเครื่อง ROVER 238 ล้านบาท 1.บริษัท CC จำกัด เสนอราคา 227 ล้านบาท 2.บริษัท G จำกัด เสนอราคา 88 ล้านบาท และ 3.บริษัท U จำกัด เสนอราคา 89 ล้านบาท ปรากฎว่าบริษัท CC จำกัด ชนะการประกวดราคา โดยเป็นบริษัทเดียวที่ผ่านการทดสอบ แต่มีส่วนต่างราคาถึง 139 ล้านบาท อย่างไรก็ตามตนตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องที่ซื้อจากจีนจะเทียบกับเครื่องที่ซื้อจากยุโรปไม่ได้จริงหรือ ไม่เช่นนั้นต้องตั้งคำถามกับเครื่องยุโรปที่กรมแผนที่ทหารซื้อมาใช้

นายวรวัจน์ ยังยกกรณีการตั้งงบฯ ของกรมที่ดิน สมัยที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กรมที่ดินเคยตั้งงบฯ กว่า 2 พันล้านบาท เปลี่ยนโฉนดที่ดินแบบดั้งเดิมเข้าสู่ระบบดิจิทัล แต่สุดท้ายกลับไม่ได้งานตามเป้า ขณะที่เรื่องการจัดซื้อเครื่องมือรังวัดเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2559 หลังรัฐประหาร ถ้ากรมที่ดินไม่โปร่งใสแบะปล่อยให้หน่ยองานรัฐดำเนินการแบบนี้ โดยตั้งงบฯ เกินความจำเป็น จะทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีประชาชนและเงินกู้

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง