จี้เพิ่มเงิน สปสช.ช่วยคนตกงานช่วง COVID-19

การเมือง
18 ก.ย. 63
20:26
303
Logo Thai PBS
จี้เพิ่มเงิน สปสช.ช่วยคนตกงานช่วง COVID-19
ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอเพิ่มงบฯ สปสช.ดูแลคนตกงานช่วงวิกฤต COVID-19 พร้อมลด หรือเลื่อนงบฯ สนับสนุนกัญชาก่อน ขณะที่ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงอยู่ระหว่างขอเพิ่มงบฯ สปสช. 3 พันล้านบาท และใช้ 1.4 พันล้านบาท อุดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน

วันนี้ (18 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เข้าสู่วันสุดท้าย โดยช่วงเย็นที่ผ่านมา การอภิปรายเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่างจาก 2 วันแรกที่มีสมาชิกขอแปรญัตติอภิปรายเป็นจำนวนมาก ซึ่งงบฯ ของกระทรวงสาธารณสุข เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ลงมติเห็นชอบตามที่กรรมาธิการจัดสรรวงเงินเกือบ 27,000 ล้านบาท

งบฯ สปสช.ไม่พอดูแลคนตกงาน 

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.พรรคก้าวไกล แปรญัตติมาตรา 25 กระทรวงสาธารณสุข ลดงบประมาณส่วนเกิน 24,994 ล้านบาท โดยระบุว่างบฯ สปสช.ไม่สอดคล้องกับวิกฤตคนตกงานที่ต้องพึ่งพาสิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น เสนอให้ สปสช.เพิ่มงบประมาณ 2,363 ล้านบาท เนื่องจากคนตกงานมากขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 จนต้องใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น

ต้องไปของบกลาง ถ้างบฯ ไม่พอ ขณะนี้มีผู้ออกจากประกันตนมาตรา 33 หายไป 613,268 คน

จัดซื้อครุภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์วิกฤต COVID-19

นอกจากนี้ กรณี สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกและโรงพยาบาล 64 แห่ง สปสช.ควรเร่งดำเนินการแก้ไขด้วย นพ.เอกภพ ยังอภิปรายเกี่ยวกับคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีการของบฯ ซื้อกว่า 1,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 ของงบทั้งหมด เมื่อตรวจสอบการกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ พบว่ากรุงเทพฯ ได้รับงบฯ จัดซื้อมากกว่าจังหวัดอื่น อีกทั้งเน้นการพัฒนารถพยาบาลฉุกเฉินและห้องผ่าตัดมากกว่าการรักษา COVID-19 เพราะขอจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจเพียง 41 เครื่อง อาจไม่มีศักยภาพรองรับวิกฤต

ส่วนการผลิตแพทย์เพิ่ม พบว่าไทยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนกร 1,000 คน อยู่ที่ 0.86 เมื่อตรวจสอบรายการงบฯ แล้ว พบว่ากรมอนามัยของบฯ ลักษณะคล้ายกับ สสส. และบางโครงการซ้ำซ้อนโครงการของสำนักงานปลัดฯ และซ้ำแผนของ สปสช.

เสนอลดงบฯ "กัญชา"

ขณะที่ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.ก้าวไกล ขอให้ปรับลดงบฯ ร้อยละ 1 ในส่วนการสนับสนุนกัญชา หลังพบว่ากรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยฯ และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข มีงบสนับสนุนกัญชาหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯ ที่สามารถปรับลดและเลื่อนออกไปก่อนได้ในช่วงที่ประเทศยังเผชิญ COVID-19 ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีงบ 138 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกัญชา กัญชง กระท่อม กว่า 60 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 ของงบกรมการแพทย์แผนไทยฯ

งบฯ บางจุดยังเป็นส่วนเกิน กรมการแพทย์มีงบกัญชา 6.7 ล้านบาท ปีที่แล้วใช้ไป 15.5 ล้านบาท ปีนี้ลดกว่าครึ่ง แต่เหมาะสมหรือไม่ในวิกฤตการณ์นี้

นพ.วาโย ยังอภิปรายงบฯ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข ในแผนงานยุทธศาสตร์เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายนักศึกษาแพทย์ และมีงบฯ ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเงินอุดหนุนน้ำมันกัญชา 100 ล้านบาท อาจปรับลดและเลื่อนออกไปบ้าง จึงขอให้ปรับลดงบฯ ส่วนนี้ ร้อยละ 1

ชี้ "กัญชา" เป็นเรื่องใหม่-ปัดเพิ่มงบฯ ปี 64

ด้านสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กมธ. ตอบประเด็นการขอปรับลดงบฯ เกี่ยวกับกัญชา โดยระบุว่าการแพทย์แผนไทยได้รับความสนใจและเป็นที่ยอมรับมาก กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น ลมชัก ส่วนประเด็นข้อสงสัยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยืนยันว่างบฯ ร้อยละ 50 นั้น ไม่ใช่งบฯ ภาพรวมทั้งหมดจากกรมฯ ซึ่งเรื่องของกัญชาค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ อีกทั้งปี 2564 จะขยายกลุ่มกัญชงและกระท่อมเพื่อรักษาทางการแพทย์ ยืนยันว่างบฯ ในปี 2564 ลดลงกว่าปี 2563 เหลือ 63 ล้านบาท จาก 95 ล้านบาท แต่ภารกิจเพิ่มขึ้น

สปสช.ของบฯ เพิ่ม 3 พันล้าน

ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กมธ. กล่าวถึงกรณีการยกเลิกสถานพยาบาล 64 แห่ง ยืนยันว่าการยกเลิกดังกล่าวเกิดจากการทุจริตและไปเบิกเงิน สปสช. ซึ่งแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนแจ้งย้ายสิทธิ์ไปใช้บริการที่อื่น ส่วนประเด็น สปสช.ตั้งงบฯ น้อยเกินไป ขณะนี้มีการเสนอขอใช้งบฯ เพิ่ม ในส่วนเงินกู้ก้อนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสภาพัฒน์อยู่ระหว่างการพิจารณาวงเงิน 3,000 ล้านบาท

แจงใช้ 1.4 พันล้าน อุดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน

ส่วนประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน แบ่งเป็นรายหัวบัตรทองอยู่ที่ 3,853 บาท ประกันสังคม 3,900 บาท และข้าราชการ 12,589 บาทนั้น เหตุที่กองทุนข้าราชการสูงกว่า เพราะไม่ได้เจาะจงรายหัว แต่เป็นสิทธิ์รวมถึงครอบครัวด้วย โดยปีนี้สำนักปลัดฯ มีงบฯ 1.4 พันล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง