THE EXIT ขุดลอก-ฝายชะลอน้ำทิ้งงานกลางคัน

ภูมิภาค
22 ก.ย. 63
18:55
1,308
Logo Thai PBS
THE  EXIT  ขุดลอก-ฝายชะลอน้ำทิ้งงานกลางคัน
THE EXIT ตรวจสอบกรณีผู้รับเหมาทิ้งงานขุดลอกฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ ต.กุดดู่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งอยู่ภายใต้งบแก้ปัญหาภัยแล้ง แต่กลับมาขุดในช่วงหน้าฝนทำให้เกิดปัญหาฝายฟังก่อนที่จะได้เก็บน้ำไว้ใช้

THE EXIT นำเสนอประเด็นการจัดสรรงบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน แต่การดำเนินโครงการในบางพื้นที่ กลับมีผู้รับเหมาเข้าไปขุดลอก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง

ล่าสุดยังได้รับการแจ้งข้อมูลอีกหลายแห่งหลายโครงการว่า นอกจากสร้างงานก่อนมีสัญญาจ้าง กลับพบการทิ้งงานสร้างฝายชะลอน้ำ ผู้รับเหมาอ้างว่าจะกลับมาสร้างต่อหลังสิ้นสุดฤดูฝน

หากไม่มีฝนตกหนัก จนมีน้ำมาเติมเกือบเต็มลำห้วย ฝายน้ำล้นงบประมาณกว่า 760,000 บาท จะถูกสร้างจนแล้วเสร็จในบริเวณนี้ โครงการฝายน้ำล้นนี้ ติดกับที่นาของสุธรรม พรมเสถียร ในต.กุดดู่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู

 

เมื่อการก่อสร้างฝายน้ำล้น ถูกเลื่อนออกไป อุปกรณ์ก่อสร้างจำนวนหนึ่งถูกทิ้งไว้เจ้าของที่นา ต้องทำหน้าที่เฝ้าดูแล เพื่อไม่ให้มีคนมาขโมย เครื่องมือก่อสร้าง และก่อนหน้านี้ก็ให้คนงานพักที่กระท่อมของเขา เพราะหวังว่าจะช่วยให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนด

ปัญหาน้ำในลำห้วยมาเยอะ ก่อนที่เขาจะทำโครงการ ถ้าแห้งก็พอทำได้ แต่พอมีฝนก็ทำให้คันกั้นน้ำขาด และทำอะไรต่อไม่ได้

 

อนุมัติฝายหน้าแล้ง-แต่สร้างหน้าฝน?

นายสุธรรม บอกกับทีม THE EXIT พร้อมระบุว่า ผู้รับเหมาบอกกับสุธรรมว่า จะกลับมาสร้างต่อ หลังสิ้นสุดฤดูฝน เขาตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมภาครัฐถึงอนุมัติงบประมาณมาสร้างฝายในช่วงหน้าฝน 

ทั้งๆที่โครงการนี้เป็นโครงการแก้ภัยแล้งอย่างเร่งด่วน วิธีการทำงานของโครงการ มีทั้งการขุดลอกลำน้ำ สร้างฝาย เพื่อกักเก็บน้ำต้นทุนในปี 2563 แต่การอนุมัติโครงการ และการก่อสร้างลักษณะนี้ควรทำตั้งแต่ช่วงหน้าแล้ง


ถ้าเลยจาก พ.ค.มาถึงมิ.ย.จะเสี่ยงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสร้างฝาย และขุดลอก เพราะภาคอีสาน ควรจะเป็นช่วงที่ข้าวนาเสร็จ ช่วงเดือนก.พ.มาถึงพ.ค.น่าจะสุดท้ายแล้ว

 

ต้นปี 2563 รัฐบาลจัดสรรงบกลาง มีกรอบวงเงิน งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป้าหมายโครงการ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน ภายใต้ชื่อโครงการน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

โครงการนี้ ให้ อปท.ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดประสบภัยแล้ง ส่งโครงการขุดลอก สร้างฝาย ไปเสนอของบประมาณ และถูกกลั่นกรองจากหลายหน่วยงาน เพื่อป้องกันปัญหาความซ้ำซ้อน

 

 

THE EXIT  ได้รับข้อมูลว่า การตรวจสอบโครงการจากทั่วประเทศ ใช้เวลานานหลายเดือน อปท.บางแห่งได้รับแจ้งว่าส่งเอกสารไม่ครบถ้วน กว่าสำนักงบประมาณจะทยอยอนุมัติโครงการได้ ก็ทำให้การก่อสร้างเริ่มต้นในช่วงฤดูฝน

หลังได้รับการอนุมัติโครงการ อปท.จึงทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง อย่างโครงการขุดลอกหนองผือ ของ อบต.ปางกู่ อำเภอโนนสัง ที่แล้วเสร็จก่อนที่ฝนจะตกเพียงไม่กี่วัน จึงสามารถกักเก็บน้ำได้ทันเวลาแต่โครงการสร้างฝายแม้บางส่วนจะเสร็จทันเวลา แต่สภาพเป็นอย่างที่เห็น ดินทรุดพัง และการปรับแต่งพื้นที่ยังไม่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่กองช่าง รู้ดีว่าโครงการลักษณะนี้ไม่ควรทำในหน้าฝน เพราะส่งผลต่อคุณภาพของงานก่อสร้าง

 

นายสุขสันติ์ เคนถวาย ปลัด อบต.ปางกู่ อ.อโนนสัง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า โครงการแบบนี้เป็นเรื่องดีและเป็นที่ต้องการของพี่น้อง แต่กลับมาทำในช่วงหน้าฝน ถาการอนุมัติมาหลังช่วงเก็บเกี่ยวก็จะได้โครงการที่ดีให้กับชาวบ้าน

ขณะที่การอนุมัติงบประมาณ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า โครงการสร้างฝายน้ำล้นแบบ มข. 2527 ของ อบต.ปางกู่มีความกว้าง 10 เมตร ได้รับงบประมาณกว่า 450,000 บาท ส่วนของ อบต.บ้านถิ่น ความกว้างน้อยกว่า คือ 9 เมตร แต่กลับได้รับงบประมาณกว่า 5 แสน 4 หมื่นบาท มากกว่าถึง 90,000 บาท

เจ้าหน้าที่กองช่าง อบต.ปางกู่ พา THE EXIT สำรวจจุดก่อสร้างฝายที่เพิ่งแล้วเสร็จและส่งมอบงานต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่บางจุด ผู้รับเหมาตัดสินใจชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากฝนตกหนักมีน้ำเต็มลำห้วย

เป็นช่วงต้นฤดูฝนแล้ว โครงการก่อสร้างฝายจะต้องมีการผูกเหล็ก เข้าแบบ เทปูน ทุกอย่างต้องใช้หลักวิศวกรรม มีเวลา และถ้าปีไหน ฝนดีตั้งแต่ต้นปี จะทำให้คุณภาพงานไม่ดี ขั้นตอนทำงานเป็นอปสรรคเพราะตัวลำห้วยห่างจากถนนใหญ่ ที่เข้าถึงพื้นที่ยาก

 

 

เอกสารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงวันที่ 17 พ.ค.2562  หรือหนังสือ ว 1955 เปิดเผยให้เห็นจำนวนฝายชะลอน้ำทั่วประเทศ ที่สำรวจเมื่อปี 2550 และแนวทางที่ภาครัฐอนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้าง และซ่อมแซมฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

จ.หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่มีฝายมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 7,600 แห่ง แต่การอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างฝายในช่วงหน้าฝน กำลังถูกตั้งคำถาม ว่า นี่อาจไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน และเสี่ยงที่จะได้งานไม่มีคุณภาพ

 

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง