ทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ว.

การเมือง
23 ก.ย. 63
10:07
349
Logo Thai PBS
ทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ว.
ดูเหมือน ว่าท่าทีของส.ว. กำลังเป็นปมสำคัญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ที่กำลังจะสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา 23 -24 ก.ย. นี้ อาจเป็นเพราะสถานะของส.ว.ที่ถูกกำหนดไว้ว่า ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของส.ว. หรือ 84 เสียง ร่วมเห็นชอบกับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่สิ่งที่ถูกจับตามากกว่านั้น คงจะหนีไม่พ้น ที่มาและบทบาทของส.ว. ในฐานะที่เป็นสภาสูง เสมือนเป็นพี่เลี้ยงของรัฐบาล ที่ปกติ จะไม่ค่อยเห็นต่าง หรือ แตกแถว เรียกได้ว่า ”ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้”

ในครั้งนี้ กระแสกดดัน เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นตัวเร่งให้รัฐบาลตัดสินใจ ซึ่งต่างจากสัญญานเดิมที่ส่งไปยังส.ว. เมื่อเป็นเช่นนั้น ส.ว.บางส่วน จึงออกอาการยึกยัก ทำให้ความเห็นของส.ว.ทั้งหมด ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ( วิปวุฒิฯ) ยอมรับว่าความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญของส.ว.ขณะนี้ ยังไปคนละทิศ ละทาง แต่ก็คาดว่าก่อนลงมติ ในวันที่ 24 ก.ย อาจจะมีการพูดคุย ชี้นำกันได้บ้าง

หากจะประเมินตัวเลข ส.ว.ทั้งหมด 250 คน ขณะนี้ จะพบมีส.ว. 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีประมาณ 60 คน

ขณะที่กลุ่มที่สองชัดเจนว่าคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเกือบ 100 คน

กลุ่มที่สาม คือส.ว.ที่ยังมีความเห็น เป็นกลางๆขอรอฟังการชี้แจงก่อน

และถึงแม้เสียงฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านจะมีเสียง ก้ำกึ่งกัน แต่ก็ยังมีความพยายามของแต่ละกลุ่มในการดึงหาแนวร่วมจากส.ว.ที่ยังไม่ตัดสินใจเข้ากลุ่มใด เข้ามาเพิ่ม

ทั้งนี้เห็นได้จากการเดินสายของ กลุ่มสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ ที่กำลังชักชวน ส.ว. ทั้งในส่วนของ ส.ว.สายทหาร ตำรวจ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าร่วมกลุ่ม จากเดิมที่มีส.ว.ในกลุ่มเพียง 60 คน

แนวทางการลงมติของกลุ่มนี้ จะให้ความเห็นชอบเฉพาะญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อใช้ร่างดังกล่าวเป็นหลักในการแก้ไข

ส่วนเนื้อหาจะแก้ตรงไหน อย่างไรนั้น เชื่อว่า รัฐบาลสามารถคอนโทรลได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าว ถือว่า ลดกระแส รับฟังทุกภาคส่วน มีความประนีประนอมมากที่สุด

ส่วนกลุ่มที่คัดค้านกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ทั้งในส่วนการตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้ไขรายมาตรา ถือได้ว่าเป็นส.ว.กลุ่มใหญ่ เกือบ 100 คน

ด้วยเหตุที่ว่า ไม่มั่นใจกับการตั้งสสร. ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะลากยาว ไปถึงการแก้ในหมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและพระมหากษัตริย์ ด้วยหรือไม่

ดังนั้น เมื่อประเด็นดังกล่าว ถูกขยายผล นำมาเป็นเหตุผลหลักในการคัดค้านครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายจับตาการแคลื่อนไหวของส.ว.กลุ่มนี้ ว่า ส.ว.จะส่ออาการ”เบี้ยว”การแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งนี้หรือไม่

ขณะที่ นาย สังศิต พิริยะรังสรรค์ วิปวุฒิฯ เชื่อว่า กลุ่มส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย ยังไม่ถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ เป็นเพียงความคิดเห็นของส.ว.กลุ่มหนึ่งเท่านั้น คาดว่าเมื่อส.ว.ได้ฟังคำชี้แจงจากส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะตัดสินใจได้ เพราะส.ว.ทุกคนมีความคิดเห็นที่เป็นอิสระ

ในเมื่อส.ว.แต่ละกลุ่ม มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแล้ว ภาพรวมของการลงมติ จะเป็นอย่างไร

แหล่งข่าว วงในของส.ว. คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มสูงที่ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 4 ญัตติ จะไม่ได้รับความเห็นชอบ

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่า ทางวิปวุฒิฯ กำลังรอสัญญาณ จากรัฐบาลว่า จะให้โหวตผ่านร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หากมีสัญญานชัดเจนให้โหวต ก็คาดว่าจะมีเสียงส.ว.เกิน 84 เสียงที่พร้อมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงส.ว.ที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ก็พร้อมจะกลับลำมาสนับสนุนโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลด้วย

บทสรุปสุดท้าย การเดินเกมทางการเมือง เพื่อแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะสำเร็จ และจบตามสัญญานที่ส่งมาหรือไม่ .. ไม่เกินวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะได้รู้กัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง