เทียบญัตติรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ตั้ง ส.ส.ร.

การเมือง
23 ก.ย. 63
14:01
285
Logo Thai PBS
เทียบญัตติรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ตั้ง ส.ส.ร.
การพิจารณาญัตติแก้ไข รธน.ของรัฐสภา อย่างน้อยน่าจะได้ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ญัตติที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเสนอเข้าไป นั้นมีรายละเอียดต่างกัน โดยเฉพาะที่มาของ ส.ส.ร. ที่ย่อมผลต่อเนื้อหาของ รธน.ฉบับใหม่

“ขอเรียกร้องให้ ส.ว.และ ส.ส.ลงมติผ่านญัตติแก้ไข รธน. และเลือกญัตติที่ ส.ส.ร.มาจาการการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นญัตติหลัก”

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช.เรียกร้องถึงสมาชิกรัฐสภา ให้ลงมติผ่านญัตติแก้ไข รธน. ทั้งการตั้ง ส.ส.ร.และตัดอำนาจ ส.ว.

แม้จะแน่นอนแล้วว่าข้อเสนอ “ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น” ทำประชามติใหม่ของ ครช. รวมถึงกรณีโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชนหรือ “ไอลอว์” รวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอแก้ไข รธน. “5 แก้ไข-5 ยกเลิก” จะไม่ได้บรรจุวาระพิจารณาในสมัยประชุมนี้

ทำให้เหลือเพียง 6 ญัตติ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง แบ่งเป็น 2 ญัตติแก้มาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และอีก 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอแก้รายมาตรา ทั้งบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.และวิธีการเลือกตั้ง

หากพิจารณาเฉพาะ 2 ญัตติแก้ มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร.ของทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านแล้ว นอกจาก “ไม่แตะหมวด 1-2” ที่เหลือมีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยเฉพาะที่มา ส.ส.ร.

 

ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ให้มี ส.ส.ร. 200 คน แบ่งเป็น 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ตามสัดส่วนจังหวัด และอีก 50 คน มาจากการเลือกทางอ้อม คือเลือกจากรัฐสภา 20 คน, ที่ประชุมอธิการบดีฯ (ทปอ.) เลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และด้านรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ 10 คน

ทปอ.เลือกจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน สุดท้าย คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการเลือกจากกลุ่มนิสิตนักศึกษา 10 คน

ส่วนฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

พรรคร่วมรัฐบาลระบุข้อดีของญัตติฝ่ายตัวเอง คือเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ มีโอกาสร่วมในกระบวนการ ส.ส.ร. และเหตุผลที่ต้องการเลือกทางอ้อม เพราะ ส.ส.ร.ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปทำให้งานสมบูรณ์

แตกต่างจากพรรคร่วมฝ่ายค้านและแนวร่วม อย่าง “รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า มองว่าที่มา ส.ส.ร.ตามญัตตินี้ สามารถแทรกคนของฟากฝั่งเข้าไปได้ ทั้งช่องทางรัฐสภาและ ทปอ. รวมถึงสามารถสกัดกั้นนักศึกษาบางคนที่จะเข้ามารับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ได้ โดยกลไก กกต.

นอกจากนี้ระยะเวลาของแต่ละขั้นตอนก็แตกต่างกัน สรุปรวม “เร็วที่สุดที่เป็นไปได้” กับ รธน.ใหม่ของญัตติฝ่ายรัฐบาล คือ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากต้องให้เวลา ส.ส.ร.จัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศ แตกต่างกับฝ่ายค้านที่คาดการณ์เสร็จได้ใน 1 ปี ด้วยเหตุผลว่า สามารถนำฉบับเดิมมาเป็นสารตั้งต้นได้

 

สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ประเมินสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ ว่าหากตั้ง ส.ส.ร.แล้ว รัฐบาลจะอ้างว่าต้องอยู่ต่อจนครบวาระไม่ได้ เพราะ ส.ส.ร.เป็นอิสระ ยังทำงานต่อได้แม้จะยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก

ส่วนการพิจารณาให้เร็วที่สุด จะเสนอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเดือนตุลาคม และพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพียงแค่ 2 สัปดาห์

ขณะที่ ข้อเสนอของ “ไอลอว์” หรือการแก้ไข หมวด 1-2 ซึ่งไปสอดคล้องกับ 10 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อยู่ที่ขั้นตอนของ ส.ส.ร.

เพราะหากเป็นญัตติของฝ่ายค้าน รธน.ฉบับ ส.ส.ร. รัฐสภาไม่มีอำนาจตีตก และต้องส่งให้ กกต.ทำประชามติถามความเห็นประชาชนเท่านั้น

จตุรงค์ แสงโชติกุล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง