"ประวิตร" สั่งแก้ปัญหาภัยทางทะเล ส่อวิกฤตหลัง COVID ระบาด

การเมือง
24 ก.ย. 63
16:44
322
Logo Thai PBS
"ประวิตร" สั่งแก้ปัญหาภัยทางทะเล ส่อวิกฤตหลัง COVID ระบาด
"ประวิตร" สั่งประเมินและรับมือกับภัยคุกคามทางทะเล จาก ผลกระทบ COVID-19 หลังพบสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลตึงเครียด มีการเผชิญหน้าระหว่างประเทศทางทะเลมากขึ้น

วันนี้ (24 ก.ย.2563) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามทางทะเล ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติและเตรียมแผนรองรับอย่างเป็นระบบ

พล.อ.คงชีพ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบ สรุปการประเมินสถานการณ์ทางทะเล ที่มีผลกระทบหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พบว่า ภาพรวมสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลตึงเครียดขึ้น มีการเผชิญหน้าระหว่างประเทศทางทะเลมากขึ้น ระบบการปฏิบัติการความมั่นคงทางทะเล ถูกลดขีดความสามารถลง จากการยกเลิกกิจกรรมความร่วมมือทางทะเล

ขณะเดียวกัน ยังพบการลักลอบเข้าเมืองทางทะเลของกลุ่มชาวโรฮีนยา จากบังกลาเทศไปยังมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการปล้นเรือและเป็นโจรสลัด เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การปฎิบัติการช่วยเหลือทางทะเล เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากหลายประเทศไม่อนุญาตให้เรือที่พบผู้ติดเชื้อเข้าเทียบท่า

ในส่วน ผลกระทบเศรษฐกิจทางทะเล พล.อ.คงชีพกล่าวว่า พบการทำประมงผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น จากการระดมทรัพยากรทางทะเลของประเทศต่างๆ ซึ่งแรงงานภาคประมงผิดกฎหมาย ที่ไม่ผ่านการคัดกรองยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เป็นเหตุให้การท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง การขนส่งสินค้าทางทะเล และการผลิตน้ำมันดิบลดลง

 

ถึงแม้ทรัพยากรทางทะเลจะสมบูรณ์ขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง แต่พบปริมาณขยะทางทะเลมีเพิ่มขึ้น จากขยะทางการแพทย์ และขยะพลาสติกที่เกิดจากการบริการอาหารจานด่วน

ส่วนการขับเคลื่อนแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (ปี 2558-2564) พล.อ.คงชีพกล่าวว่า จากการปฏิบัติงานศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ( ศรชล.) ที่บังคับใช้กฎหมายภายในประเทศและกฏหมายระหว่างประเทศ

พบการนำเข้ายาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายเข้าในราชอาณาจักร การทำประมงผิดกฎหมาย การควบคุมป้องกัน COVID-19 และคัดกรองประชาชนและชาวประมง 624,500 คน รวมทั้งการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการจัดระเบียบประมงชายฝั่ง

พล.อ.คงชีพกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังพิจารณาแนวทาง และการจัดตั้งกลไกเพื่อจัดทำร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลฉบับใหม่ ปี 2566-2570 ให้ครอบคลุมทุกมิติ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570 ) โดยให้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์

รวมทั้งภัยคุกคามในเชิงยุทธศาสตร์ในทุกระดับ และการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ

 

พล.อ.คงชีพกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ( ศรชล.) ประสานการทำงานร่วมกับ กอ.รมน.ในพื้นที่ทางบก ทั้งการแก้ปัญหาเร่งด่วนและการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พร้อมให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ในภาคประมงมากขึ้น โดยให้ดำเนินการควบคู่กับการเสริมสร้างองค์ความรู้และศึกษารูปแบบการจัดตั้งองค์กรจัดการความรู้ทางทะเล กับท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง