ชีวิตหน้า "เวทีชุมนุม" พื้นที่หารายได้ช่วง COVID-19

เศรษฐกิจ
25 ก.ย. 63
12:35
504
Logo Thai PBS
ชีวิตหน้า "เวทีชุมนุม" พื้นที่หารายได้ช่วง COVID-19
การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากเวทีปราศรัยของเหล่าแกนนำแล้ว บรรยากาศด้านล่างเวทียังเต็มไปด้วยผู้ร่วมชุมนุมและพ่อค้า-แม่ค้า ที่เข้ามาจับจองพื้นที่หารายได้จากคนจำนวนมาหลังเผชิญวิกฤต COVID-19 มานาน

วันนี้ (25 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 10 กว่าปีมาแล้วที่นายพิศิษฐ์ รัตนะ ยึดอาชีพพ่อค้าในเวทีชุมนุมทางการเมือง โดยเริ่มต้นขายอุปกรณ์กันแดดกันฝนครั้งแรกในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อขายได้ง่ายและรายได้ดี ทำให้ทุกครั้งเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่พลาดที่จะหารายได้ โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ค้าขายลำบาก


การชุมนุมวานนี้นายพิศิษฐ์ก็ได้จับจองพื้นที่ตั้งร้านหน้ารัฐสภาตั้งแต่ช่วงบ่ายเพราะหวังว่าจะมีรายได้ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ระบุว่า ปกติขายสินค้าต่างๆ ตามงานประเพณีในต่างจังหวัด ทั้งงานแข่งเรือและหล่อพระ ส่วนการชุมนุมนั้น ตัดสินใจมาขายเนื่องจากมีคนจำนวนมาก โดยสินค้าที่นำมาขายเป็นของจำเป็นที่ต้องมีในการร่วมชุมนุมทั้งหมดทั้งพัด ร่ม ผ้าปู และโต๊ะ ซึ่งกำลังซื้อของผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถซื้อได้ เริ่มต้นตั้งแต่ 20 บาท โดยรายได้เน้นจากจำนวนคนมากกว่า

ชุมนุมคนเยอะกว่างานแข่งเรือ หล่อพระมาก โดยเฉพาะชุมนุมที่สนามหลวงครั้งก่อนก็ได้กำไรหมื่นกว่าบาทเหมือนกัน เพราะคนเยอะมาก 

เช่นเดียวกับ น.ส.วรรณา ทองนอก อดีตแม่ค้าขายข้าวแกง ย่านซอยหมอเหล็ง เขตราชเทวี คนนี้ผันตัวมาขายพลาสติกรองนั่ง หลังต้องหยุดขายอาหาร ตั้งแต่ COVID-19 แพร่ระบาด เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เธอมาค้าขายในเวทีชุมนุม หลังครั้งแรกไปขายที่สนามหลวง แม้รายได้จะไม่มากนัก เพราะต้องขายให้ได้ 100 บาท จึงจะได้กำไร 20 บาท แต่เธอบอกว่ายังดีกว่าไม่มีรายได้เลย

คิดว่ามีชุมนุมที่ไหนก็ไปขายหมดเลย ก่อนหน้านี้ขายข้าวแกงมา แต่ COVID-19 ก็ต้องหันมาขายแบบนี้ ไปขายสนามหลวง ได้กำไรมา 400-500 บาท ก็ดีกว่าไม่ได้เลย

 

ร้องแก้ รธน. - ช่วยแรงงานถูกเลิกจ้าง

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มาเข้าร่วมการชุมนุม เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อีกทั้ง ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องมีสัดส่วนแรงงาน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองของแรงงาน รวมทั้งสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้แรงงาน

 


ทั้งนี้ สวัสดิการรัฐ บำนาญถ้วนหน้า ค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่เครือข่ายแรงงานคาดหวังให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พวกเค้าสะท้อนว่าประเด็นนี้เรียกร้องต่อรัฐบาลมาต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งสถานการณ์ COVID-19 ยังเข้ามาซ้ำเติมแรงงานทำให้ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เคยมีมานาน จึงคาดหวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดนเร่งด่วน และยืนยันที่จะติดตามข้อเรียกร้องและสะท้อนผ่านเวทีชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง