ความท้าทายของภาครัฐ ในการแก้ปัญหายาเสพติดในวิกฤตโควิด-19

ภูมิภาค
25 ก.ย. 63
11:34
848
Logo Thai PBS
ความท้าทายของภาครัฐ ในการแก้ปัญหายาเสพติดในวิกฤตโควิด-19
การแก้ปัญหายาเสพติดในวิกฤตโควิด-19 ยังเป็นความท้าทายของภาครัฐ แม้การนำเข้า และกระจายยาเสพติดจะทำได้ยากขึ้น แต่การบำบัดรักษาก็มีอุปสรรค ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการรักษา และมีผู้เสพหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

ทหารกองกำลังผาเมือง เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนตลอดแนวชายแดน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่ถูกปิดตายทุกช่องทางข้ามแดน มาตรการนี้ไม่เพียงป้องกันการลักลอบข้ามแดนสกัดโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักในประเทศ เพื่อนบ้าน แต่ยังสร้างความยากลำบากแก่กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดในการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย

 

มานิต โกเมศ ผอ.ปปส.ภาค 5

นายมานิต โกเมศ ผอ.ปปส.ภาค 5 ระบุว่า แผนการสกัดโควิด-19 และ ทางการเมียนมาคุ้มเข้ม กดดันแหล่งผลิต และแหล่งพักยาเสพติด ทำให้กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด ต้องเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงยาเสพติดไปยังพื้นที่ชายแดนฝั่ง สปป.ลาว ยืนยันได้จากสถิติการจับกุมยาเสพติดรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้น บริเวณชายแดนตั้งแต่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ต่อเนื่องถึงจังหวัดชายแดนริมแม่น้ำโขง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมา ได้เร่งประสานกับหน่วยงานของเมียนมา และ สปป.ลาว ทำให้สามารถตรวจยึดยาเสพติดได้เพิ่มมากขึ้น


โควิด-19 ไม่เพียงทำให้หน่วยงานด้านป้องกันยาเสพติดต้องปรับแผนรับมือ แต่ด้านการบำบัดก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยมาตรการจำกัด ผู้เข้ารับบริการในสถานพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยทุกกลุ่มโรค ต่างได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ผู้อยู่ระหว่างการบำบัดยาเสพติดที่มีจำนวนลดลง


โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 7 โรงพยาบาล ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหน้าที่รักษาฟื้นฟู ผู้ป่วยเสพยา และสารเสพติด พื้นที่ 12 จังหวัดภาคเหนือ

 

นพ.อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ รอง ผอ.การด้านการแพทย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ 

นพ.อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ รอง ผอ.การด้านการแพทย์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องปรับแผนการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เฉพาะในช่วงเดือน เม.ย.ถึงเดือน ก.ค. มีผู้ป่วยลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 50 กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น หลุดออกจากระบบการรักษา และอาจกลับไปเสพยาซ้ำ

 

 

ปัญหาโรคโควิด-19 ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม ยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มคนในวัยทำงานบางส่วนอาจหันไปพึ่งพาสารเสพติด เพื่อลดความเครียดจากการตกงาน สูญเสียรายได้ หรือ ความกดดันในครอบครัว เริ่มจากการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และใช้สารเสพติดอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายมากขึ้น จนกลายเป็นผู้เสพรายใหม่ได้

 

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องเข้มข้นในการค้นหาผู้เสพยาเสพติดเป็นระยะๆ แต่ยอมรับว่า ข้อจำกัดการทำงานในช่วงโรคระบาด ส่งผลให้การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ อาจทำได้ไม่เต็มที่ หรือ ไม่สะท้อนความเป็นจริง

 

ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผอ.ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่

ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผอ.ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ ระบุว่า ผู้ที่มีปัญหาสารเสพติดไม่ว่าจะเป็นสุรา หรือ สารเสพติด หากยังบำบัดไม่สำเร็จ ก็ยังคงเสพอยู่เป็นครั้งคราว คนเหล่านี้หากไม่ได้เสพเลย ก็จะเกิดภาวะซึมเศร้า ยิ่งถ้าขาดยาที่ช่วยควบคุมอาการ ก็อาจมีผลทำให้อัตราการฆ่าตัวตาย หรือ การใช้ความรุนแรงสูงขึ้น 

 

นอกจากนี้ สถิติการเข้าบำบัดที่ลดลง สวนทางกับผลสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่พบจำนวนผู้เสพเพิ่มขึ้น จึงมีสมมุติฐานว่าผู้เสพรายใหม่ ส่วนหนึ่งไม่ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด 

 

ผอ.ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ยังระบุว่า ในวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้ผู้เสพสารเสพติดหน้าใหม่ลดลง เพราะมีการจำกัดการเดินทาง และการจำหน่าย แต่บทเรียนในอดีตสะท้อนว่า ผู้ค้ายาเสพติด สามารถปรับกลยุทธ์เสมอ และไม่เคยใช้วิธีการเดิมๆ เช่น ข้อจำกัดการเดินทาง น่าจะทำให้ผู้ค้าหันไปใช้วิธีการอื่นๆ อาทิ บริการขนส่งผ่านแอปพลิเคชันที่กำลังเป็นที่นิยม 

 

ส่วนคำถามว่ากลุ่มผู้ค้ายาเสพติด จะลดราคาลงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหรือไม่ ความเป็นจริงแล้ว ผู้ค้ายาเสพติดมีการลดราคามาสักระยะหนึ่งแล้ว ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเฮโรอีน ที่ปรับราคาลงต่ำกว่ายาบ้า ทำให้มีตัวเลขผู้เสพเฮโรอีนมากขึ้น และก่อนวิกฤตโควิด-19 ก็มีการลดราคายาบ้า ปปส.จึงควรต้องเร่งตรวจสอบสาเหตุ

 

ราคายาจะลดลงไหม ผู้ค้าจะปรับกลยุทธ์อย่างไง ผมเชื่อว่าเขาทำแน่ และทำอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพียงแต่เราจะตั้งรับได้ทันไหม เราดูแลเยาวชนของเราดีหรือยัง นี้จึงเป็นคำถามกลับมาที่สังคมไทยว่า เราช่วยกันดูแลเยาวชนไทยได้อย่างที่เราควรจะทำหรือเปล่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง