เบื้องหลังโหวตเลื่อนแก้รัฐธรรมนูญ

การเมือง
25 ก.ย. 63
17:44
1,191
Logo Thai PBS
เบื้องหลังโหวตเลื่อนแก้รัฐธรรมนูญ
การเลื่อนโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.63) ถือได้ว่าเป็นการจุดชนวน “ระเบิดเวลา” เปิดฉากเกมการเมือง หลังปิดสมัยประชุมสภาที่เขี่ยลูกให้เกมไปอยู่นอกสภา หรืออยู่ใต้ดิน ตามกระแสโซเชียลมากขึ้น

แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาล ประเมินว่า การตัดสินใจเดินเกมเช่นนี้ ผู้มีอำนาจอาจจะคิดว่าสามารถคอนโทรลสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะจากการประเมินกลุ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ประกาศยุติการชุมนุมได้เร็ว และไม่รุนแรงอย่างที่คิด

แต่ในความเป็นจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น อารมณ์ของผู้ชุมนุมร้อนระอุ สมาชิกรัฐสภาที่เดินทางกลับหลังประชุม ต้องเปลี่ยนเส้นทาง หนีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารอฟังผลการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ กันอย่างทุลักทุเลท่ามกลางเสียงตะโกนก่นด่าดังกึกก้อง

นั่นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ต่อไป เกมการเมือง นอกสภา "แรง" แน่ เห็นได้จาก ปฎิกริยาที่เกิดขึ้น กับ ส.ว.ที่ตกเป็น "จำเลย" ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยมี ส.ว.บางคนถึงกับเอ่ยปาก ว่า “ก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้ แค่เดินถนนยังลำบากเลย นี่ยิ่งลำบากกว่าเดิมอีก ”

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใครทำอะไร ก็รับผิดชอบกันไปแล้วกัน และในครั้งนี้ได้แสดงจุดยืนด้วยการ งดออกเสียงเลื่อนการโหวตลงมติออกไป

หากมองย้อนกลับไปยึดข้อเสนอให้เลื่อนการโหวตลงมติ โดยนำข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 มาใช้เปิดทางให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในครั้งนี้ เป็นประเด็นที่กลุ่ม ส.ว.คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยอมรับว่า เคยมีการพูดคุยและเสนอมาตั้งแต่ต้นแล้วถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้เพราะทิศทางการไม่รับร่างแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ว.เริ่มชัดมากขึ้นตั้งแต่วันแรกของอภิปราย

ยิ่งชัดเจน เมื่อ ส.ว.อย่าง “สมชาย แสวงการ” และ “เสรี สุวรรณภานนท์” นำทีมอภิปรายคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น กลายเป็นตัวเร่งให้มีการหยิบยกมาหารือในวงของส.ว .ไม่เช่นนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ผ่าน หรือ ถูกคว่ำแน่

เมื่อท่าทีของ ส.ว.เริ่มชัด ทางฝ่าย ส.ส.รัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูเหมือนจะไม่มี "ธง" มาตั้งแต่ต้น และอยากเลื่อนเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาในการประชุมสภาสมัยหน้า จึงเดินเกมภายใน ผนึกกำลังกับกลุ่ม ส.ว.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยส่งสัญญานเบื้องต้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวันลงคะแนน เพื่อเตรียมเสนอใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 เปิดทางตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก่อนที่จะมีการโหวตลงมติ

แต่หากไม่สำเร็จ เพราะคาดว่ายังมี ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล หรือ ส.ว.บางส่วนเห็นต่าง ก็จะ "จับมือ" ใช้เสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.และ ส.ว.โหวต "คว่ำ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติให้ตกไป โดยทุกอย่างจะคอนเฟิร์มอีกครั้งก่อนที่ประชุมจะเริ่มให้โหวตลงคะแนนในเวลา 18.00 น. ซึ่งระหว่างนั้นก็มีการจับกลุ่มประเมินทิศทางนาทีต่อนาที และเมื่อถึงเวลาตามนัดได้รับสัญญานชัดเจน การเดินเกมดังกล่าว จึงเริ่มขึ้น

โดย ส.ว.อภิปราย ส่งไม้ต่อ ให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 ในประชุม และสุดท้ายก็สำเร็จด้วยเสียงโหวต 432 ต่อ 255 เลื่อนโหวตรัฐธรรมนูญออกไปในการประชุมสภาสมัยหน้า พร้อมตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาก่อนลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยที่ฝ่ายค้าน "วอล์กเอ้าต์" และไม่ส่งชื่อร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว

เกมการเมืองในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่แตกแถว ตามไม่ทัน แม้แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวในตอนท้ายของประชุมว่า "ผมเตรียมตัวที่จะมาโหวต ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่เพิ่งมาทราบในช่วงค่ำว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ การที่มีสมาชิกบางคนห่วงว่าถูกหลอกนั้นไม่ต้องกลัวเพราะถ้าถูกหลอก ผมก็ถูกหลอกด้วย"

สุดท้าย การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะสูญเปล่า หรือเป็นการ "ซื้อเวลา" ตามที่มีหลายฝ่ายคาดหมายหรือไม่ โดยเฉพาะกับการที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมในการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ยิ่งเป็นจุดบ่งชี้ เพิ่มดีกรีความร้อนแรงทางการเมือง ในช่วง "ตุลาอาถรรพ์" ...ที่เชื่อว่างานนี้ไม่จบง่าย ๆ อย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง