THE EXIT : อุปสรรคยกระดับความปลอดภัยรถโรงเรียน

สังคม
26 ก.ย. 63
19:17
1,514
Logo Thai PBS
THE EXIT : อุปสรรคยกระดับความปลอดภัยรถโรงเรียน
แม้จะมีความพยายามกำหนดมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก แต่จากการตรวจสอบของไทยพีบีเอส พบว่า รถนักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน และการปรับปรุงก็ต้องใช้ต้นทุนไม่น้อย

รถตู้รับส่งนักเรียนหากถูกต้องตามกฎหมายต้องรับนักเรียนได้ไม่เกิน 12 คน ตามระเบียบ กรมการขนทางบก แต่ทีมข่าว THE EXIT ลงพื้นที่พบรถรับส่งนักเรียนที่ต้องรับนักเรียนเกือบ 20 คน รถกระบะรับส่งนักเรียนบางคันไม่สามารถปิดกระบะท้ายรถ ตามระเบียบขนส่งทางบก เพราะต้องขยายที่นั่งให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน


จันทร์ทา มูลยเทพ คนขับรถรับ-ส่งนักเรียน ระบุว่า ตอนแรกรถก็มีปิดฝาท้าย แต่ขณะนี้ไม่มีฝาท้ายแล้ว แต่ทำเป็นที่กั้นบังไว้แทน แต่เมื่อไปต่อทะเบียนก็ต้องติดเข้าไปใหม่ ทำให้ยุ่งยากมาก เวลาไปขนส่งครั้งแรกก็ต่อทะเบียนไม่ผ่าน 


ขณะที่ทัพ คนขับรถโดยสารรับจ้างรับ-ส่งนักเรียน โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.แม่ฮ่องสอน ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ต้องรับส่งนักเรียน จากชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อมาส่งนักเรียนในตัวเมืองด้วยระยะทางเกือบ 50 กิโลเมตร นอกจากต้นทุนน้ำมัน ยังมีต้นทุนอื่นๆ

ต้องผ่อนรถเดือนละ 9,000 บาท น้ำมัน 6,000 - 7,000 บาท ค่าใช้จ่ายเยอะ ผมอยู่ไกล และยังมีค่าสึกหรออีก 2-3 เดือนตรวจครั้ง 

ด้วยข้อจำกัดจำนวนนักเรียนตามระเบียบกรมการขนส่ง ส่งผลต่อรายได้ของคนขับรถ และยังต้องแบกรับต้นทุนการปรับปรุงรถให้ถูกต้องตามระเบียบอยู่ระหว่าง 50,000 - 70,000 บาท จึงทำรถรับ-ส่งนักเรียนหลายคันเลี่ยงที่จะจดทะเบียนให้ถูกต้อง

 


ชายคนนี้เขายอมรับกับทีมข่าวว่า รถของเขาไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยให้เหตุผลว่า ในหมู่บ้านไม่มีรถรับ-ส่งนักเรียน จึงต้องนำรถมาส่งลูก พร้อมกับรับ-ส่ง นักเรียนในหมู่บ้านด้วย

เด็กมีปัญหาเรื่องรถรับส่ง ผมมีลูกแฝด 2 คน ก็มารับส่งเขาทุกวันเดือนหนึ่งค่าขนส่งน้ำมัน 5,000 - 6,000 บาทไปกลับ และรับคนในหมู่บ้านมาด้วย 

ทั้งนี้ คนขับรถรับส่งคนนี้ ระบุว่า สิ่งที่เตรียมไว้สำหรับเด็ก คือการจัดให้เด็กโตนั่งท้าย ส่วนเด็กเล็กนั่งข้างหน้า เพื่อความปลอดภัย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหรือเด็กตกรถก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบคนเดียว


ประกาศกรมการขนส่งทางบก และ ขีดเส้นข้อความเน้นย้ำ ต้องมีคนดูแลเด็ก 1 คน ตามระเบียบกรมการขนส่งรถนักเรียน ระบุต้องรถโรงเรียนต้องมีคนดูแลการรับ-ส่ง แต่จากการสำรวจของ THE EXIT พบว่า รถรับ-ส่งนักเรียนเกือบทุกคันใน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยากลับไม่มีผู้ดูแล และข้อมูลจากขนส่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรถรับ-ส่ง นักเรียนจดทะเบียนถูกต้องเพียง 31 คัน และข้อมูลจากขนส่งจังหวัดพะเยา มีเพียง 220 คัน

ข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ในปี 2560 ถึงปี 2562 รถรับ-ส่งนักเรียน หรือรถโรงเรียน เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง


ส่วนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญมาจากคนขับรถ จำนวน 37 คน จากอุบัติเหตุ 66 ครั้ง สาเหตุมาจาก การใช้ความเร็ว หลับใน ประมาท และเสียสมาธิ

พวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พะเยา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ระบุว่า รถรับส่งนักเรียนมีอยู่ของ จ.พะเยา ยืนยันว่ามีมากกว่า 350 คัน แต่ยังไม่เข้าระบบ สิ่งที่คนทำงานคุยกับผู้ประกอบการ ผู้บริหารสถานศึกษา ไปเก็บข้อมูล และทำความเข้าใจผู้ประกอบการ เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพรถให้มีความปลอดภัย สิ่งที่น่าตกใจที่ไปเก็บข้อมูลมาบางคันไม่ต่อภาษี 3 ปี นั้นหมายความว่า พ.ร.บ.ต่างๆ ไม่มี ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะเกิดอะไรขึ้น


นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยความปลอดภัยทางถนน ยังระบุว่าที่ผ่านมารถรับส่งนักเรียน แม้จะผ่ารรับรองตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบก แต่ยังพบปัญหาที่สำคัญ คือ การกับกับดูแลรถรับส่งนักเรียน โดยเฉพาะการแปลงสภาพให้รถรับส่งนักเรียนให้รับได้มาก เช่น เพิ่มเบาะที่นั่ง ต่อท้ายรถกระบะ

ทั้งนี้ ข้อเสนอของศูนย์วิจัยความปลอดภัยทางถนน ได้เสนอให้มีระบบดูแล สนับสนุน ตรวจสอบ คัดกรองคุณภาพ อย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามามีส่วนร่วมสร้างกลไกดูแล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง