THE EXIT : รถโรงเรียน (ต้อง) ปลอดภัย

ภูมิภาค
27 ก.ย. 63
17:48
695
Logo Thai PBS
THE EXIT : รถโรงเรียน (ต้อง) ปลอดภัย
เมื่อวานนี้ THE EXIT ได้เสนออุปสรรคการพัฒนารถโรงเรียนให้ปลอดภัย วันนี้ มีตัวอย่างที่ จ.พะเยา กับความพยายามสร้างกลไกรถโรงเรียนปลอดภัยซึ่งก็พบข้อจำกัด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย

"ถ้าคนเยอะก็ต้องยืนจำเป็นต้องยืน" หรือ "ถ้ามาจากที่ไกลๆมากเขาก็จะอัดกันมา" เสียงสะท้อนของเด็กนักเรียน โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ที่สะท้อนปัญหารถรับ-ส่งนักเรียน ที่ต้องทนกับสภาพที่แออัด และมีความเสี่ยงความปลอดภัย

 

ปัญหาเด็กนักเรียน ห้อยโหนรถ และคุณภาพรถโรงเรียนไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พูดถึงในสังคมไทย

 

ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกประกาศระเบียบแนวทางปฎิบัติรถรับส่งนักเรียน ลงวันที่ 29 ก.ค.59 เพื่อแก้ปัญหา เช่น กรณีเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ที่นั่งต้องติดมั่นคงถาวรไม่มีพื้นที่นักเรียนยืน กรณีรถมีลักษณะรถสองแถว หากมีทางขึ้นท้ายรถต้องปรับปรุงตัวรถให้มีประตู และที่กั้นรถนักเรียน หรือ กรณีรถตู้ ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนกว้างของตัวรถเท่านั้น

 

รวมถึงประกาศของ กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องให้มีผู้ดูแลเด็กเล็ก เน้นย้ำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของรถรับส่ง-นักเรียน แต่ปัญหาคุณภาพรถรับส่งนักเรียนยังเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือแม้แต่การลืมเด็กไว้ในรถจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

 

น.ส.พวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า " กระทรวงออกกฎต่างๆชัดเช่นว่าคนขับนักเรียนต้อง ทำ 2 3-4-5 คุณไปดูทุกจังหวัดเป็นไปตามกฎกระทรวงหรือไม่ ส่วนกลางออกกฎหมายข้องบังคับมา แต่พื้นที่หรือหน่วยงานคนในพื้นที่ไม่ให้ความสำคัญก็เป็นแค่กระดาษ"


โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม จ.พะเยา เป็นโรงเรียนที่พยายามแก้ปัญหามาตรฐาน และความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน

 

ภูสิษธิ์ อ่อนคำ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแม่ใจวิทยาคม จ.พะเยา ต้องนั่งอยู่ท้ายรถและทำหน้าที่เหมือนผู้ดูแลในรถรับ-ส่ง นักเรียน คืออีกหนึ่งมาตรการที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัย

 

ภูสิษธิ์ กล่าวว่า "คนขับรถแบ่งให้ผมเป็นคนควบคุมด้านหลัง ให้คุมเด็กแล้วจัดพื้นที่การนั่งชองเด็กให้พอดีและให้ปลอดภัยขึ้น ซึ่งห้าไม่มีคนดูแลจะอันตราย "


ด้านนายณรงค์ อินโส หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา กล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมีความต่อเนื่อง แม้ผู้บริหารจะเกษียณไปแล้ว ต้องมีครูรับช่วงต่อ ถึงสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งในสถานศึกษาต่าง ๆ จะมีครูที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะคนเหล่านี้จะต้องมีใจ มีใจที่จะคิดว่าลูกศิษย์ลูกหาก็เหมือนลูกหลานของตัวเอง"

 

แม้จะเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย แต่โจทย์ใหญ่ของการแก้ปัญหารถนักเรียน คือ มาตรฐานรถที่ใช้รับส่งที่ต้องทำให้ได้มาตรฐาน แข็งแรง และปลอดภัย

 

นายดลพัฒน์ ธัญสร คนขับรถรับส่งนักเรียน กล่าวว่า "การขับรถรับ-ส่ง นักเรียน ความรับผิดชอบของแต่ละคนมีมากอยู่แล้ว พยายามตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะระบบเบรก ถ้าระบบเบรกไม่ดี ชุดไฟ ระบบต่าง ๆ ขนส่งจะตรวจสอบตลอดเวลา"

 

ขณะที่ นางสุภมาส ลีลารักษ์สกุล ขนส่งจังหวัดพะเยา กล่าวว่า "เราจะประชาสัมพันธ์เลยว่า เจ้ของรถท่านใดที่จะนำรถไปใช้ในการขนส่งนักเรียน ต้องมาขออนุญาตตามกฎหมาย ในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดเทอม และเมื่อเปิดเทอมก็จะมีมาตรการทางกฎหมายก็จะไปสุ่มตรวจสอบ"

ข้อมูลขนส่งจังหวัดพะเยา มีรถขึ้นทะเบียนรถรับส่งนักเรียนประมาณ 220 คัน ข้อมูลจากมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาคาดว่าจังหวัดพะเยาจะมีรถรับส่งนักเรียนมากกว่า 500 คัน และอาจมีรถอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก

 

พวงทองผู้ประสานงาน ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.พะเยา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า "ประกาศจังหวัดระบุว่ารถต้องมีมาตรฐานหลายข้อ เช่น ที่นั่งต้องไม่เกิน 12-20 ที่นั่ง แต่ในต่างจังหวัดนั่งเกินทุกที่ซึ่งถ้าจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต้องพบกันครึ่งทาง และรถต่างจังหวัอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปี บางคัน 20 ปี ขณะที่คนขับอายุ 60 - 70 ปี สิ่งที่เกิดเวลาทำงานขึ้นรถที่มีอยู่จะพัฒนาความปลอดภัยอย่างไร เช่นโครงสร้างมั่นคงถาวร"

 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย และใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ปี 2561 พบว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 30,112 แห่ง มีรถที่รับใบอนุญาตเพียง 8,999 คัน และไม่มีใบอนุญาตกว่า 141,565 คัน ซึ่งมีจำนวนเด็ก 1.8 ล้านคน ทำให้ปัญหารถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ยังเกิดคำถามถึงความปลอดภัย และปัญหา ตั้งแต่ 1.การบังคับใช้กฎหมาย 2. ผู้ประกอบการ ต้นทุนค่าซ่อม ค่าน้ำมัน 3.เด็กจำนวนน้อยลง ไม่คุ้มทุนการรับ-ส่ง

 

ข้อเสนอทางออกการแก้ปัญหาจากศูนย์วิจัยความปลอดภัยทางถนน ได้เสนอให้มีการจัดการความปลอดภัยให้เร่งแก้ปัญหา ตั้งแต่ประเมินสถานการณ์ความปลอดภัย การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง เช่น กลไกผู้บริโภค ผู้ปกครอง รวมไปถึงการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม และการบังคับใช้กฎหมายโดยนโยบายรถโรงเรียนต้องเข้าไปเป็นนโยบายหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยฉพาะกลไกระดับจังหวัดที่เข้ามาแก้ไข

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง