ภูเก็ตปรับมาตรการจราจร รองรับเปิดเมือง

เศรษฐกิจ
28 ก.ย. 63
06:39
700
Logo Thai PBS
ภูเก็ตปรับมาตรการจราจร รองรับเปิดเมือง
ภูเก็ตปรับมาตรการจราจร รองรับเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว และเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ช่วงการระบาดของ COVID-19

วันนี้ (28 ก.ย.2563) ก่อนเปิดให้ จ.ภูเก็ต เตรียมรับนักท่องเที่ยว 1 ต.ค.นี้ ได้มีการเลือกเป็นพื้นที่ศึกษาและเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเดินทางสัญจรอีกครั้ง โดยมีการเสนอให้มีการปรับมาตรการความปลอดภัยทางถนน รองรับนโยบายเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว "ลองสเตย์" หลังสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต จัดอยู่ในอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย สถิติในปี 2551 ต่อวันมีผู้บาดเจ็บราว 35 คน และเสียชีวิตปีละกว่า 300 คน

 

จากการสำรวจล่าสุด จังหวัดดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงมากว่า 200 จุดทั่วเกาะภูเก็ต พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขด้านวิศวกรรมจราจร เช่น การปิดจุดกลับรถ การทำเนินชะลอความเร็ว ลูกระนาด พร้อมป้ายเตือนความเร็ว ป้ายสะท้อนแสงเข้าโค้ง การติดตั้งไฟจราจรในทางแยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย การติดตั้งไฟเตือนและแสงสว่าง และการทำวงเวียน

นอกจากนี้ ภูเก็ตถือเป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยการจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ และการตรวจจับผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ทำให้ทุกวันนี้อัตราสวมหมวกหมวกนิรภัยขยับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ 

 

ที่ผ่านมา อุบัติเหตุจราจรใน จ.ภูเก็ต ทำให้ถูกจับตามองโดยเฉพาะที่เกิดกับนักท่องเที่ยว โดยพบปัจจัยหลักคือ นักท่องเที่ยวไม่ชำนาญทางและเข้าใจกฎจราจร รวมถึงความเร็วของรถและอุปกรณ์ต่าง ๆ ขณะที่ คนขับรถโดยสารรับจ้างกรณีรถทัวร์พบว่าเป็นคนนอกพื้นที่ทำให้ไม่เข้าใจสภาพถนน สภาพภูมิทัศน์ของเกาะ รวมถึงระบบเครื่องยนต์ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

ดัน "ภูเก็ต" ต้นแบบฟื้นเศรษฐกิจ

การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร คือ 1 ใน 7 แผนยุทธศาสตร์หลักที่เครือข่ายภาคเอกชนใน จ.ภูเก็ต เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของภูเก็ต ที่เดิมพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเดียวไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

อีก 6 แผนที่เสนอ คือ การพัฒนาภูเก็ตเป็นเมืองการศึกษาระดับโลก การสร้างศูนย์กลางมารีน่า ศูนย์กลางทางการแพทย์ งานสปอร์ตและอีเวนท์ สมาร์ทซิตี้ และศูนย์กลางทูน่า หรือ การเป็นทูน่า ฮับ ของมหาสมุทรอินเดีย

 

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นี่คือต้นทุนเดิมของภูเก็ตที่เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่คนทั่วโลกต้องการกลับมาเยือน แต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป ขณะที่การแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเข้มข้นขึ้น เพราะทุกรัฐบาลต้องการรายได้มาฟื้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภูเก็ตมีต้นทุนการปรับตัวที่ดีแต่จะให้ภาคเอกชนทำฝ่ายเดียวอาจไม่สำเร็จ เพราะตอนนี้ต้องแก้ทั้งปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และการปรับตัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ จึงเสนอให้รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนอย่างจริงจังและทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ต้นแบบ

แต่การเปลี่ยนผ่านภูเก็ตไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีหลายฐานการผลิต ต้องไปควบคู่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานใหม่ให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังยุคโควิด ซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง