COVID-19 สะท้อนวิกฤตสาธารณสุขในเมียนมา

ต่างประเทศ
28 ก.ย. 63
19:40
887
Logo Thai PBS
COVID-19 สะท้อนวิกฤตสาธารณสุขในเมียนมา
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเมียนมายังคงน่าเป็นห่วง หลังจากเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 10,000 คน จนเกิดความกังวลว่า ระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ ในขณะนี้จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อไม่ไหวอีกต่อไป กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการไม่หนุนส่งหมอไปช่วย

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเมียนมายังคงน่าเป็นห่วงจนเกิดความกังวลว่าระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ในขณะนี้จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อไม่ไหวอีกต่อไป จากข้อมูลพบว่าในภาพรวมการดำเนินมาตรการป้องกัน COVID-19 ค่อนข้างรัดกุม เมียนมาใช้วิธีกักตัวทั้งผู้แสดงอาการ และไม่แสดงอาการไว้ในพื้นที่กักโรคของรัฐ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) เมียนมามีผู้ติดเชื้อใหม่ 743 คน ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 10,734 คน เสียชีวิตอีก 226 คน

ถือเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 สูงเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

โดยจุดศูนย์กลางการระบาด คือนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเพียงเมืองเดียวที่พบผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 700 คนส่วนพื้นที่อื่นๆ ของเมียนมา มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นหลักสิบต้นๆ ส่งผลให้นครย่างกุ้งถูกจับตามองเป็นพิเศษ

 

เมื่อผู้ติดเชื้อในนครย่างกุ้งยังไม่มีแนวโน้มลดลง ก็ยิ่งเกิดความกังวลถึงขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะมาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อ ทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการไว้ตามพื้นที่กักโรคของรัฐ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไปเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุขเกินความจำเป็น จนอาจส่งผลกระทบระยะยาว

จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพ หรือ Global Health Security Index เมื่อปีที่แล้ว ถ้าดูเฉพาะปัจจัยขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในการรับมือผู้ป่วยและปกป้องบุคลากรการแพทย์ เมียนมามีคะแนนเพียง 19.5 จาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 111 จากทั้งหมด 195 ประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนบุคลากร

เนื่องจากเมียนมามีแพทย์ 56.8 คน ต่อประชากร 100,000 คนและพยาบาล 93 คน ต่อประชากร 100,000 คน

 

แนวทางในการช่วยแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขสะท้อนให้เห็นจากความเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงพยาบาลสนามของภาคเอกชนและการเปิดโรงพยาบาลทหารในย่างกุ้งรองรับผู้ติดเชื้อ

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังไม่รวมถึงการยกระดับความเข้มงวดของมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งการปิดโรงงานและร้านค้าที่ไม่มีความจำเป็นไปจนถึงการห้ามรถยนต์เดินทางข้ามเขตต่างๆ ในนครย่างกุ้ง

น.ส.อรรวี แตงมีแสง อดีตผู้สื่อข่าวสายอาเซียน เจ้าของเพจ Natty in Myanmarทำธุรกิจในเมียนมาได้พูดถึงความกังวลของประชาชนต่อการใช้มาตรการเหล่านี้ เธอระบุว่า เมียนมาก็เกรงว่าถ้าภายในวันที่ 7 ต.ค.นี้  สถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะกระทบต่อธุรกิจและถ้าจำเป็นต้องล็อกดาวน์นานกว่าจะกระทบต่อปากท้องและธุรกิจ แต่ในแง่หนึ่งเมียนมาพอใจที่ดำเนินมาตรการนี้เสียที

ตอนนี้ทางการเมียนมาก็มีการกระตุ้นให้คนมีอาการนิดเดียว ก็เข้ามาตรวจแบบครอบคลุมมากขึ้น และต้องติดตามผู้ใกล้ชิดติดตามผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมากขึ้น

 

สิ่งที่น่าติดตามต่อไป คือ การหันมาใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดของรัฐบาลในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อลดลงได้จริงหรือไม่ หากล้มเหลว หมายถึง ระบบสาธารณสุขที่เปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะตกอยู่ในความเสี่ยงสูงมากที่จะรองรับไม่ไหว จนกลายเป็นปัญหาในระยะยาวและลุกลามต่อไปยังประเทศที่มีชายแดนติดกันได้

ข้อเสนอส่งแพทย์ตรวจเชิงรุกในเมียนมา  

หากฟังจากข้อมูล สาเหตุอาจมาจากความไม่เพียงพอในระบบสาธารณสุข ก็น่าคิดว่า เมียนมาควรตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากนานาชาติหรือไม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณ สุข สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมยาเวชภัณฑ์ และทีมแพทย์ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการร้องขอจากประเทศเมียนมาก่อน จึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือแต่ต้องไม่กระทบต่อการป้องกันโรคของไทย

ในกรณีที่เราจะสามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางการแพทย์ไปช่วยได้หรือไม่ แต่ต้องอยู่ในระดับที่จะไมให้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในประเทศ เราต้องดูแลคนในประเทศเป็นสำคัญลำดับหนึ่ง 

 

ขณะที่ รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค  ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ระบุว่า แนวคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดรบนอกบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเห็นด้วยที่ไทยจะส่งยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปช่วยเหลือเมียนมา แต่ไม่เห็นด้วยหากจะส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์เข้าไป

โดยต้องพิจารณาว่าทางการเมียนมาขาด หรือต้องการความช่วยเหลืออะไร และไทยช่วยได้ในระดับใด ซึ่งหากต้องการให้คำแนะนำ ปรึกษาทางเทคนิค การดูแลรักษา ก็สามารถใช้เว็บไซต์ประชุมทางไกลได้อยู่แล้ว และควรส่งทีมแพทย์ช่วยเหลือคัดกรองตามแนวชายแดนจะดีกว่า

สรรพกำลังของเราควรป้องกันประเทศไทยก่อน และที่มีอยู่บ้างเช่นของใช้ และอุปกรณ์ต่างๆแต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตัวยังไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่

ส่วนนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า รอการประสานงานระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และเมียนมาในการตอบรับความร่วมมือเชิงลึก ขณะนี้ไทยพร้อมให้ความร่วมมือตรวจตามแนวชายแดน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดเสียชีวิตจาก COVID-19 ทั่วโลก แตะ 1 ล้านคน

"ซู จี" เตือนผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 เร่งพบแพทย์

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง