คาดโควิดฉุดรายได้ 9 สายการบินในไทยกว่า 2.2 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจ
1 ต.ค. 63
11:38
529
Logo Thai PBS
คาดโควิดฉุดรายได้ 9 สายการบินในไทยกว่า 2.2 แสนล้านบาท
กพท.ประเมิน COVID-19 ฉุดรายได้ 9 สายการบินในไทยปีนี้กว่า 2.2 แสนล้านบาท หรือลดลง 73% โดยคาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ 8.28 หมื่นล้านบาท ส่วนการฟื้นตัวเป็นปกติคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 3 ปี

วันนี้ (1 ต.ค.2563) นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เชื่อว่าสายการบินจะเริ่มปรับตัวได้ในช่วงกลางปี 2564 แม้ผู้ประกอบการและผู้โดยสารจะกลับมาเดินทาง แต่พฤติกรรมการเดินทางจะปรับเปลี่ยนแตกต่างไปจากเดิม

โดยได้ประมาณการจำนวนผู้โดยสารในปี 2563 หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจะอยู่ที่ 52.8 ล้านคน ปรับลดลง 112.2 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 165 ล้านคน

นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่า กพท.ได้แจ้งถึงประมาณการรายได้สายการบินสัญชาติไทย 9 สายการบินในปี 2563 คาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ 8.28 หมื่นล้านบาท ปรับลดลง 2.29 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเกิดจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศถูกระงับ และกระทบต่อรายได้สัดส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ เบื้องต้น กพท.คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางตามปกติในปี 2566

ด้านนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ระบุว่า ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ประเมินว่า การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้การเดินทางและการขนส่งทางอากาศทั่วโลก ลดลงรวมร้อยละ 52.9 เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 59.9 และทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก สูญรายได้มากถึง 3.14 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.94 ล้านล้านบาท โดยการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวเพียงร้อยละ 50 ในไตรมาส 4 ของปีนี้

กระทรวงคมนาคม คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี กว่าจะเห็นการฟื้นตัว และอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือประมาณปี 2568 จึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ โดยภาครัฐในฐานะผู้กำกับและส่งเสริมธุรกิจการบิน จะต้องช่วยทำให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างทั่วถึง พร้อมช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบต่างๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง