เอเจนซี่ย้อม "ครูสอนภาษา" ส่งเข้ารั้วโรงเรียน

สังคม
2 ต.ค. 63
10:42
1,106
Logo Thai PBS
เอเจนซี่ย้อม "ครูสอนภาษา" ส่งเข้ารั้วโรงเรียน
นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ยืนยันตรวจสอบคุณสมบัติครูเข้มงวด​ แต่พบโรงเรียนร้องคุรุสภา​ หลังสถาบันภาษาส่งครูไม่มีใบประกอบวิชาชีพเข้าสอน​ ชี้สวัสดิการครูเอกชนสร้างช่องโหว่​ ครูแห่สอบบรรจุข้าราชการ

จากกรณีคนไทยเนียนเป็นครูต่างชาติเข้าสอนภาษาอังกฤษ​ (อ่านเพิ่มเติม​ :  เปิดเบื้องหลัง! คนไทยเนียนเป็นครูต่างชาติ ช่องโหว่ ร.ร.เอกชน)​

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน โดยระบุว่า การรับครูต่างชาติเข้าทำงานในโรงเรียนเอกชนนั้น ต้องมีการสืบประวัติการศึกษา และมีหนังสือรับรองจากตำรวจ ส่วนกรณีครูต่างชาติที่โรงเรียนเอกชนได้ทำสัญญากับสถาบันภาษานั้น จะมีการตรวจที่เข้มงวดกว่า คือ ผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานศึกษาจังหวัด โดยต้องขออนุญาตคุรุสภาก่อน ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

 

การทำสัญญาลักษณะนี้ ส่วนใหญ่โรงเรียนจะดูจากความน่าเชื่อถือของบริษท ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่า มีการใช้คนไทยมาสอนภาษาอังกฤษ ไม่ได้เป็นลักษณะชาวต่างชาติ แต่สอนโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศ

ที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนหลายแห่งมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เนื่องจากพบว่า บางบริษัทได้ส่งครูที่ใช้วุฒิปลอมเข้ามา หรือบางคนไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งปีที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ร้องคุรุสภา 2-3 กรณี โดยกระบวนการเบื้องต้น คือ ต้องพักการเรียนการสอนครูที่กระทำความผิด ระหว่างการตรวจสอบ เมื่อพบว่ากระทำผิดจริง คุรุสภาก็จะรวบรวมหลักฐานและแจ้งความร้องทุกข์ต่อไป

 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ ระบุว่า ปัญหาของโรงเรียนเอกชนที่เลือกทำสัญญากับสถาบันการศึกษานั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างระบบการศึกษาไทยที่เน้นการเรียนการสอนแบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย และยึดคะแนนโอเน็ตเป็นสำคัญ ดังนั้น ทำให้ครูไทยสอนหนังสืออยู่ในกรอบ แต่หากมีการปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาได้ ก็จะช่วยให้ครูไทยสอนได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น เน้นความสุขของนักเรียน เช่นเดียวกับการสอนของสถาบันภาษา

ปัญหาครูไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ช่องว่าง ร.ร.เอกชน

นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ระบุว่า กรณีครูในโรงเรียนเอกชนไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น พบได้จำนวนมาก เนื่องจากครูส่วนใหญ่ยังต้องการสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการไปสอนในโรงเรียนของรัฐ เมื่อสอบได้ก็ลาออกจากโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเอกชนต้องหาครูที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาสอนแทน

สำหรับครูที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบโดยขอผ่อนผันกับคุรุสภาได้เป็นเวลา 2 ปี เพื่อไปศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จนสามารถขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ ทำให้ขณะนี้อัตราส่วนครูที่มีใบประกอบวิชาชีพอยู่ที่ประมาณ 90,000 คน หรือ ร้อยละ 90 ส่วนครูผ่อนผันในโรงเรียนเอกชนอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 10

 

ขณะที่เว็บไซต์คุรุสภา รายงานสถิติผู้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในปี 2563 อยู่ที่ 37,241 คน ส่วนครูที่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอยู่ที่ 253,627 คน ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 63

ยืนยัน กระบวนการรับครูของทุกโรงเรียนเข้มงวดมาก แต่ต้องยอมรับว่าช่องว่างอยู่บ้างจากปัญหาครูไปสอบเป็นข้าราชการเข้าโรงเรียนรัฐ ทำให้ต้องเร่งหาครูมาสอนแทน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ ระบุว่า ต้องยอมรับว่า สวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนนั้นสู้โรงเรียนรัฐไม่ได้ โดยเฉพาะการเบิกค่ารักษาพยาบาลที่เบิกได้ตามกรอบวงเงิน และเบิกให้ตัวเองได้เท่านั้น รวมถึงเรื่องของวิทยฐานะด้วย จึงเป็นต้นเหตุให้ครูเอกชนออกจากระบบไปรับราชการจำนวนมาก หากรัฐบาลสนับสนุนครูเอกชนมากขึ้น โดยอาจให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับครูโรงเรียนรัฐ อาจจะเป็นปัจจัยในการลดช่องว่างในส่วนนี้ไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง