ไทยพีบีเอสเปิดตัว The Visual พบกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมีแค่ 6.9 ตร.ม.ต่อคน

Logo Thai PBS
ไทยพีบีเอสเปิดตัว The Visual พบกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมีแค่ 6.9 ตร.ม.ต่อคน
ไทยพีบีเอส เปิดตัว The Visual นำข้อมูลมาประกอบการนำเสนอด้วยภาพ หรือ Data Visualization พบข้อมูลปี 2562 ชี้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวมีแค่ 6.9 ตารางเมตรต่อคน ด้าน ผอ.ส.ส.ท.คาดโครงการนี้จะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

วันนี้ (1 ต.ค.2563) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) นำข้อมูลมาประกอบการนำเสนอด้วยภาพ (Data Visualization) ด้วยเทคโนโลยีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย มีการยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน ผ่านการนำเสนอด้วยรูปแบบมัลติมีเดียภายใต้โครงการ “The Visual” (https://thevisual.thaipbs.or.th) ในธีม “พื้นที่สีเขียว”

ทั้งนี้ “กรุงเทพสีเขียวอ่อน” หรือ พื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอยู่ตลอด โดยเฉพาะในมิติด้านปริมาณและคุณภาพ ไทยพีบีเอสตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้รวบรวมข้อมูล เพื่อทำให้เห็นภาพพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ

หวังจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจ ผลักดันและขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้สอยได้อย่างเพียงพอ

เพราะเวลาที่มนุษย์เครียด สิ่งที่สามารถช่วยเยียวยาได้ คือ ธรรมชาติและสีเขียวของต้นไม้ ซึ่งการที่คนกรุงเทพฯ มีเทรนด์ปลูกต้นไม้และออกไปท่องเที่ยว-แคมป์ปิง เป็นเพราะกรุงเทพฯ ของเรามีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอหรือเปล่า จึงเป็นที่มาของการหาข้อมูล แล้วเราก็พบว่ากรุงเทพฯ สีเขียวอ่อนจริงๆ

ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองควรมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ข้อมูลสถิติพื้นที่สีเขียว 7 ประเภท รวบรวมโดยสำนักสวนสาธารณะกรุงเทพฯ พบว่า ประชากรในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยอยู่ที่ 6.9 ตารางเมตรต่อคน ในปี 2562

และเมื่อศึกษาถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการนิยามพื้นที่สีเขียวทั้ง 7 ประเภท พบว่ามีพื้นที่สีเขียวแค่บางประเภทเท่านั้นที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้จริง เมื่อนำมาคำนวนแล้วพบว่าสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่คนกรุงเทพฯ สามารถใช้งานได้จริงมีเพียง 0.92 ตารางเมตรต่อคน เท่านั้น

 

โดยใน The Visual ประกอบไปด้วยข้อมูลเชิงวิชาการและสถิติ ที่สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลพื้นที่สีเขียวได้ทุกเขตในกรุงเทพฯ ซึ่งดูภาพประกอบได้แบบ 360 องศาอีกด้วย ที่เว็บไซต์ https://thevisual.thaipbs.or.th

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.ส.ส.ท. กล่าวว่า การที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวจำกัด ไม่ใช่มีความหมายแค่ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่มันหมายถึงคุณภาพชีวิตด้วย ซึ่งมีผลการศึกษามากมายเปรียบเทียบกับคุณภาพชีวิตของประชากร ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเลยว่า แค่เพิ่มพื้นทีสีเขียวอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก แต่พื้นที่ตรงนั้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมหาศาล

The Visual เป็นพื้นที่ใหม่ เป็นบริการใหม่ ที่ทางสำนักสื่อใหม่และไทยพีบีเอส อยากให้เป็นพื้นที่สำคัญที่ช่วยกันจุดประเด็นให้บรรดา Active Citizen ทั้งหลาย หรือผู้ที่สนใจตื่นรู้กับการเปลี่ยนแปลงสังคม มาร่วมกันออกแบบว่าเราอยากผลักดันวาระ-ประเด็นอะไร

พร้อมกันนี้ ผอ.ส.ส.ท. คาดหวังว่า The Visual จะเป็นบริการใหม่ที่จุดประเด็นใกล้ตัวที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง พร้อมชี้ว่าการมีข้อมูลมาประกอบ อาจผลักดันให้เกิดเป็นกระแสและนำไปสู่การเปลี่ยนเชิงนโยบายได้

ปลูกต้นไม้เพื่อคนรุ่นต่อไป แล้วเด็กจะขอบคุณผู้ใหญ่อย่างเรา

 

ทายาท เดชเสถียร (บอล) และ ไพศาล แสงจันทร์ (ยอด) จากรายการหนังพาไป เปิดเผยถึงประสบการณ์จากการเดินทางในหลายประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างที่เมืองนานกิง ประเทศจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 40 ประเทศ ที่มีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ ขณะที่ไทยไม่มีวันดังกล่าว และจีนยังกำหนดให้ประชาชนต้องปลูกและดูแลต้นไม้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 3-5 ต้น ซึ่งนโยบายนี้มีมานานกว่า 30 ปี แล้ว

นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างประเทศอิหร่าน ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ขณะที่เมืองอิสฟาฮานกลับมีการปลูกต้นไม้ไว้ริมสองข้างทางเพื่อให้เกิดความร่มรื่น ซึ่งต้นไม้แต่ละต้นมีขนาดใหญ่มาก สะท้อนถึงการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการปลูกต้นไม้เพิ่มอีกด้วย

 

"ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่ที่ลงมือปลูกต้นไม้พวกนี้ ทุกวันนี้เขาอาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ใช้ร่มเงานี้แล้ว แต่ผมเชื่อว่าในวันที่เขาปลูก เขาไม่ได้ปลูกเพื่อตัวเอง เขาปลูกเพื่อคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานเขาในอนาคต ซึ่งวันนี้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ร่มเงานี้แล้ว ซึ่งผู้ใหญ่แบบนั้นเป็นผู้ใหญ่ที่ผมคิดว่าทุกสังคมควรจะมี เราอยากจะเป็นผู้ใหญ่ที่เด็กรุ่นหลัง ขอบคุณอะไรที่เราทำไว้ให้กับเด็ก ๆ” บอล กล่าว

ยอด กล่าวเสริมว่า “ผมโตมาได้ขนาดนี้ก็ต้องขอบคุณผู้ใหญ่รุ่นก่อนผมจริง ๆ ก็รู้เลยว่าเขาได้ทำอะไรให้ไว้กับพวกเราบ้าง เราก็เลยรู้สึกว่า ได้เวลาที่เราปลูกต้นไม้ใหญ่เองบ้างแล้วล่ะ เพื่อคนรุ่นต่อไป”

ดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ โจทย์ใหญ่ไม่แพ้ประเด็นการปลูกต้นไม้

 

ชนัตฎา ดำเงิน รุขกรจากกลุ่ม BIG Tree Project ระบุว่า ทางกลุ่มรวมตัวกันขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดการดูแลรักษาต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ให้อยู่คู่กับคนเมืองได้ ผ่านการให้ความรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะพวกเราต่างมีความสัมพันธ์กับต้นใหญ่แบบไม่รู้ตัว เช่น เรายืนใต้ต้นไม้เพื่อหลบแดด, เรานั่งพักผ่อนหย่อนใจใต้ต้นไม้ หรือเรานำส่วนประกอบของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในชีวิต แต่หลายครั้งเราก็มองข้ามมันไป

BIG Tree ไม่ได้ปลูกต้นไม้ใหญ่ แต่กำลังปลูกความเข้าใจให้กับผู้คน นั่นหมายความว่า ถ้าทุกคนมีความเข้าใจเรื่องต้นไม้ใหญ่ มีแนวคิดเรื่องต้นใหญ่ที่เหมือนกัน เราก็จะสามารถรักษาต้นใหญ่ให้อยู่คู่กับทุกคนในเมืองได้

รุขกรจากกลุ่ม BIG Tree Project ยังชี้ว่า เราทุกคนต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการมองว่าหน้าที่ดูแลต้นไม้เป็นของรัฐเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราไม่เริ่มทำอะไรเลย เราจึงควรเปลี่ยนวิธีคิดเป็น “ต้นไม้นี้เป็นของเรา” โดยอาจจะไม่ต้องเริ่มจากต้นไม้สาธารณะ แต่ให้เริ่มจากต้นไม้ของเราในบ้านก่อน เมื่อเราปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการดูแลต้นไม้ได้ เราถึงจะเริ่มขยับไปดูแลต้นไม้สาธารณะหน้าบ้านได้โดยไม่ยากนัก

นอกจากนี้ ชนัตฎา ยังเสนอให้มีการเก็บข้อมูลต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อให้ประเมินได้ว่าต้นไม้ใดมีความเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยต่อผู้คน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้เห็นว่าการตัดต้นไม้ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ก็จะตัดต้นไม้จนกุดหมด

ป้องกัน “การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6” เพื่อให้โลกนี้ยังคงอยู่

 

“ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่าตอนนี้เราเข้าสู่แอนโทรโปซีน อีพอช (Anthropocene Epoch) หมายถึง พฤติกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโลกอย่างมีนัยสำคัญ ในสมัยทางธรณีวิทยาที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้

โดยในช่วง 20-30 ปี ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าชั้นโอโซนเกิดรูโหว่ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในเชิงเคมี ส่งผลให้ทั่วโลกปรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จนในที่สุดชั้นโอโซนก็กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น ความน่ากังวลคือการเปลี่ยนครั้งนี้เกิดจากมนุษย์

“การสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 มันเกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก แต่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เกิดโดยมนุษย์เลย ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนภูมิอากาศ ชั้นโอโซนของเราจบเลย จบมนุษยชาติได้เลย” ศศิน ตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าสัญญาณการเกิดการสูญพันธุ์ในอดีต มักพบว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลเริ่มลดลง ในขณะที่เราก็เริ่มเจอกับปรากฏการณ์อย่าง “ปะการังฟอกขาว” กันแล้ว ดังนั้นหากเราต้องการรอดพ้นจากการสูญพันธุ์และภาวะโลกร้อนในรอบนี้ เราต้องรักษาโลกให้มีพื้นที่ที่ไม่ถูกทำลายมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ Half Earth

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า “เราใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะออกไปทำหน้าที่ของ Homo sapiens (สปีชีส์มนุษย์) เพื่อร่วมกันไปชะลอ The Sixth Entinction (การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6) ไปชะลอ Climate Change (ภาวะโลกร้อน) เขาบอกว่าเรามีเวลาถึง ค.ศ.2030 ปีนี้ ค.ศ.2020 ถ้าใน 10 ปีนี้เราเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้ เราจะมีความหวังว่าคนรุ่นอย่างเกรต้า ธันเบิร์ก จะมีโลกอยู่”

ดังนั้นเมืองสีเขียวจะเป็นสิ่งที่ทำให้คน Gen Z เขาใกล้ชิดธรรมชาติ แล้วเขามีความหวังว่าเขาจะมากอบกู้

อยากให้กรุงเทพฯ เขียวแบบกรุงปารีสต้องทำอย่างไร

 

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผอ. ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ระบุว่า นับตั้งปี 2558 เป็นต้นมา คนอยู่ในเมืองมากกว่าอยู่ในชนบท โดยในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า คนจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในเมืองมากขึ้น ดังนั้น Mega Trend อย่างเรื่อง Urbanization หรือ “การเป็นเมือง” ไม่มีวันหยุดลงอย่างแน่นอน ซึ่งโจทย์ความท้าทายหลังจากนี้ คือทำอย่างไรให้ประชากรภายในเมืองจำนวนมหาศาล เข้าถึงสุขภาวะได้อย่างถ้วนหน้า

“พื้นที่สีเขียวเป็นส่วนสำคัญมาก ที่ทำให้ผู้คนในเมืองมีสุขภาวะ โดยยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของนิเวศในเมือง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ แมลง อีกทั้งยังดูดซับมลภาวะในอากาศทำให้อุณหภูมิเมืองเย็นลง และช่วยปิดสวิตซ์ความเครียดได้ แค่เราเดินผ่านทางเท้าสวย ๆ ที่ต่างประเทศ เรากลับถึงบ้านเราก็หายเครียดแล้ว” ผศ.ดร. นิรมล กล่าว

 

ผอ. UddC เผยต่อว่า หากเราอยากได้มาตรฐานพื้นที่สีเขียวแบบกรุงปารีสของฝรั่งเศส ต้องทำให้พื้นที่ใต้ทางด่วนทั้งหมด 600 ไร่, พื้นที่โล่งตามผังเมืองรวมฉบับใหม่, สนามกอล์ฟทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง และพื้นที่ราชพัสดุที่หน่วยงานราชการหรือทหารใช้อยู่ มีการปลูกต้นไม้ และเปิดให้คนสามารถเข้าไปใช้ได้ จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นมาเป็น 13.20 ตารางเมตรต่อคน

ต้องบอกว่าที่ราชพัสดุโดยเฉพาะที่ทหาร แต่ก่อนอาจจะอยู่นอกเมือง แต่ปัจจุบันเมืองขยายตัวออกไป ยกตัวอย่างวังนันทอุทยาน กองทัพเรือ ปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียว แล้วก็อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปวิ่งออกกำลังกายได้ อันนี้ไม่ได้พูดถึงกรรมสิทธิ์ แต่พูดถึงความเขียวและการให้คนสามารถเข้าไปใช้งานได้

ทาง UddC ระบุว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้ทำโครงการ “กรุงเทพฯ 250” ร่วมกับทางกรุงเทพมหานครเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ใจกลางเมืองซึ่งมีประชากรหนาแน่นมาก โดยนำร่องจากการเปิดตัว “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและภาครัฐ เปลี่ยนซากรางรถไฟที่ไม่ได้ใช้แล้ว ให้กลายเป็นเส้นทางเชื่อมพื้นที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงด้วยการเดินทางให้มีมากขึ้น ส่งดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ศักยาภาพของกรุงเทพฯ หากต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เข้าถึงมาตรฐานที่ WHO กำหนด คือ 9 ตารางเมตรต่อคน เราสามารถทำได้โดยการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วน 600 ไร่ และพื้นที่โล่งตามผังเมืองรวมฉบับใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สามารถร่วมมือกันเพื่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้สอยได้

ที่ดินที่กรุงเทพฯ สามารถ Unlock เอามาปรับปรุงได้ ถ้าผู้กำหนดนโยบายเอาด้วย เพราะหลาย ๆ เมือง มีการปรับปรุงพื้นที่ที่รัฐเป็นเจ้าของ

ส่วนใครถ้าอยากรู้ว่า เราจะเป็นพื้นที่สีเขียวแบบกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ อยู่ที่ 19.8 ตารางเมตรต่อคน และกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี อยู่ที่ 24.4 ตารางเมตรต่อคน ได้อย่างไร สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน The Visual #กรุงเทพสีเขียวอ่อน ได้ทางเว็บไซต์ https://thevisual.thaipbs.or.th 

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง