งานวิจัยชี้ ไทยยังเป็นเส้นทาง "การค้าสัตว์ป่า" ของเอเชีย

สิ่งแวดล้อม
3 ต.ค. 63
17:40
4,126
Logo Thai PBS
งานวิจัยชี้ ไทยยังเป็นเส้นทาง "การค้าสัตว์ป่า" ของเอเชีย
งานวิจัยระบุในรอบ 10 ปี ไทยยังเป็นเส้นทางผ่านของขบวนการค้าสัตว์ป่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งช้าง และสัตว์เลี้ยงประเภทน่ารัก และการค้าสัตว์ป่าผ่านสวนสัตว์

จากผลการวิจัยเรื่อง “สถานการณ์สัตว์ป่าไทย : การค้าขายสัตว์ป่า สวนสัตว์ และเขตอนุรักษ์ : ปัญหา ทางออก และโจทย์วิจัย” จัดทำโดย คณะนักวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการศึกษาคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช นำโดย นายนิคม พุทธา ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อปี 2550-2551

งานวิจัยระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มสถานการณ์ของสัตว์ป่าไทย ยังคงน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มถูกคุกคามมากขึ้น แม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดมา

จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ พบว่า ปัจจุบันนอกจากค่านิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าของกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความเชื่อบางอย่างมีมากขึ้น ทำให้สัตว์ป่ายังคงถูกล่าเพื่อเป็นอาหารของคนกลุ่มนี้

ค่านิยมใหม่ๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา เลี้ยงเป็นแฟชั่น ยังมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้มีการนำเข้าสัตว์แปลกๆ จากต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ มีการเติบโตของตลาด การซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ในประเด็นสถานภาพชนิดสัตว์ป่า และสถานการณ์ทั่วไปในรอบ 10 ปีหลัง ในรายงานวิจัยระบุว่าในปี พ.ศ.2547 ประเทศไทยมีสัตว์มีกระดูกสันหลัง 4,522 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 7.8 ของโลก

พบมากที่สุดคือ สัตว์จำพวกปลา รองลงมาคือ นก และมีจำนวนชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 115 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจำนวนชนิดเฉพาะถิ่นของโลก โดยมีสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด และอยู่ในภาวะคุกคามตามบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) 116 ชนิด

การลดลงทั้งชนิดและปริมาณของสัตว์ป่า มีสาเหตุที่สำคัญๆ คือ ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย การล่าเพื่อการบริโภคและการค้า ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติกำลังถูกทำลาย จากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาถนนเพื่อการท่องเที่ยว การเปิดเหมืองแร่ในเขตผืนป่าตะวันตก

ขณะเดียวกันบริเวณรอบๆ ผืนป่าอนุรักษ์ และนอกพื้นที่อนุรักษ์ ถูกคุกคามทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในทุกภูมิภาค ปาล์มน้ำมันในพื้นที่ป่าตะวันออก ป่าตะวันตก ป่าภาคใต้

นอกจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกคุกคามทำลายแล้ว การล่าก็เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์ป่าลดลง แม้ถิ่นที่อยู่อาศัยจะถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ และคุ้มครองตัวสัตว์ป่า แต่ยังพบมีการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมปี พ.ศ.2546-2550 พบมีการล่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ คือ กระทิง วัวแดง กวาง เสือโคร่ง เสือดาว หมีควาย

เป็นการล่าเพื่อบริโภค และส่งร้านค้าอาหารป่า เช่น กระรอก เต่าปูลู งู เม่น ไก่ฟ้า ทั้งยังเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น ผีเสื้อถุงทองที่นำไปขายเป็นของที่ระลึก และเพื่อนำไปสู่การค้าสัตว์มีชีวิต โดยเฉพาะประเภทนกสวยงาม เป็นสัตว์ป่าที่ถูกจับเพื่อการค้า เป็นอันดับหนึ่งในประเทศ

จากรายงานของ Worldwide Fund for Nature (WWF) ในช่วงปี พ.ศ.2546-2547 พบว่า พื้นที่ที่มีการค้าสัตว์ป่าในประเทศไทย 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของการซื้อขาย รองลงมาคือ ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และตาก

ประเทศไทยมีบทบาทเป็นผู้ส่งผ่านสัตว์ป่าจากประเทศต้นทาง ที่สำคัญอย่างน้อย 6 ประเทศ คือ พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา และลาว สู่ประเทศปลายทางคือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป

โดยเฉพาะจีน เป็นประเทศที่มีความต้องการสัตว์ป่ามากขึ้น ตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พื้นที่บริเวณชายแดนเป็นพื้นที่มีการซื้อขายกันมาก โดยลำเลียงทั้งทางรถยนต์ เรือ และเครื่องบิน ซึ่งพัฒนาวิธีการลำเลียงที่ซับซ้อนมากขึ้น และการลักลอบค้าสัตว์ป่าบางชนิด ก็นำไปสู่สัตว์ในสวนสัตว์ เช่น ลิงอุรังอุตัง และเสือโคร่ง

สิ่งที่น่าตกใจจากข้อมูลในรายงานวิจัยชิ้นนี้ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ปัจจุบันมีการค้าลูกช้างป่าจากประเทศพม่า สู่ประเทศไทยปีละกว่า 50 ตัว โดยนำเข้าผ่านจุดที่เรียกว่า 5 ประตูผี บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน มีกระบวนการสวมตั๋วรูปพรรณเป็นช้างบ้าน แล้วจัดส่งไปฝึกตามที่ต่างๆ

โดยร้อยละ 70 ไปยัง จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ อีกร้อยละ 30 ไปยังปางช้างในภาคเหนือ เมื่อฝึกแล้วจะถูกนำไปสู่การซื้อขาย เพื่อนำใช้ประโยชน์ในธุรกิจการท่องเที่ยว และการเร่ร่อน และร้อยละ 20 ของลูกช้างจะตายในกระบวนการค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดการสัตว์ป่านอกถิ่นที่อยู่อาศัย ในรูปแบบต่างๆ ปัจจุบันมีสวนสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนกว่า 45 แห่ง ในหลากหลายรูปแบบ เช่น สวนสัตว์ สวนสัตว์เปิด ซาฟารี อควาเรียม และรูปแบบอื่นๆ ตามร้านอาหาร สถานที่จัดแสดงโชว์ของสัตว์เฉพาะประเภท เช่น สวนลิง สวนงู สวนผีเสื้อ สวนนก

ในวัดต่างๆ มีอัตราการเพิ่มขึ้นตามกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยว มีการกระจายตัวมากในพื้นที่เมืองท่องเที่ยว 5 อันดับ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นครปฐม สุราษฎร์ธานี และพบว่า 4 จังหวัด ยกเว้นนครปฐม เป็นจังหวัดที่มีรายงานการค้าสัตว์ป่ามากที่สุด

ยิ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาอุทยานช้าง ที่ตั้งอยู่ติดกับไนท์ซาฟารี จ.เชียงใหม่ สวนสัตว์ขนาดใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนที่ จ.อุบลราชธานี โดยตั้งเป้าให้เป็นสวนสัตว์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเขตภูมิภาคนี้

จากการศึกษาพบประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ การขาดมาตรฐานในการจัดการ เพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ในสวนสัตว์

ที่สำคัญคือข้อสงสัยในแหล่งที่มาของสัตว์ในสวนสัตว์ รวมทั้งความสัมพันธ์ของกิจการสวนสัตว์กับขบวนการค้าขายสัตว์ป่าจากแหล่งธรรมชาติ เป็นประเด็นท้าทายที่ต้องศึกษาต่อไป

แม้ประเทศไทยจะเป็นสมาชิก อนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่กลับไม่มีการบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ

รวมถึงกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันโดยตรง คือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์ป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

รวมถึงมีพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ด้วย ก็ยังไม่เพียงพอต่อการอนุรักษ์ สงวน และคุ้มครองทรัพยากรสัตว์ป่า และถิ่นที่อยู่อาศัย

นโยบายการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ มีผลกระทบและขัดแย้งต่อการจัดการสัตว์ป่า เช่น การตัดถนนผ่านป่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การเปิดเหมืองแร่ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญ เช่นในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก

จากผลการศึกษาดังกล่าว ทางคณะวิจัยพบโจทย์วิจัยต่อ ที่น่าสนใจ สำหรับการศึกษาในระยะต่อไปหลายหัวข้อ ได้แก่ มุมมอง ค่านิยมของคนไทยต่อสัตว์ป่า และการอนุรักษ์สัตว์ป่า สภาวะปรากฏการณ์ป่าว่างเปล่า โดยการศึกษาสถานภาพสัตว์ป่าที่เป็นชนิดพันธุ์สำคัญต่อระบบนิเวศ มาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ และการครอบครองสัตว์ป่าในสังคมไทย การสร้างกระบวนการเรียนรู้การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยิง ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ ปมสอบลูกเก้งเผือกหายที่ จ.สงขลา

ยิงตัว​ตาย! หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ฯ​ มือลั่นไก​ ผอ.สวนสัตว์ฯ​ ดับ​

ข่าวที่เกี่ยวข้อง