สมุยเตรียมปรับทิศท่องเที่ยว บุกตลาดไทย - ชิม ช็อป ชุมชน

เศรษฐกิจ
8 ต.ค. 63
07:00
676
Logo Thai PBS
สมุยเตรียมปรับทิศท่องเที่ยว บุกตลาดไทย - ชิม ช็อป ชุมชน
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกาะสมุย วิเคราะห์สภาพธุรกิจการท่องเที่ยว ถ้าจะอยู่รอดให้ได้ ต้องทำตลาดกับคนไทยด้วยการเฟ้นหาทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่เป็นเสน่ห์ของสมุย

นอกจาก Sea Sand Sun ที่เป็นจุดขายเดิมให้กับตลาดต่างชาติ พบว่า ชุมชนในสมุยมีวิถีวัฒนธรรม ประเพณี และของดีที่หลากหลาย เตรียมหาช่องทางเชื่อมโยงเพื่อฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวแนวใหม่

เศรษฐกิจของเกาะสมุยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลัก เป็นอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ขาดนักท่องเที่ยว สมุยวันนี้เงียบเหงา เหลือเพียงคนพื้นถิ่นที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยเบาบาง โรงแรมเกือบทั้งเกาะเปิดไฟเพียงริบหรี่เพราะไร้คนเข้าพัก ร้านรวงถนนหนทางย่านท่องเที่ยวกลางคืนที่เคยเต็มไปด้วยสีแสง วันนี้ไฟมืดดับ

COVID-19 ทำชีวิตเปลี่ยน กลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง

แม้กระทั่งหาดเฉวงที่ไม่เคยร้างคนหรือเงียบเสียง มอเตอร์ไซค์ รถยนต์เช่า และเรือท่องเที่ยวถูกจอดทิ้งตากแดดฝนเต็มลาน ห้องเช่าที่เคยหาได้ยากก็ว่างลงนับหมื่นห้องเพราะแรงงานต่างย้ายกลับถิ่นไปหาค่าครองชีพที่ถูกกว่า ขณะที่บางคนก็ยังจำเป็นต้องอยู่ต่อไป

ทรัพย์ พนักงานขับรถชาวชัยภูมิ บอกว่า รับจ้างขับรถตู้ให้บริษัทรับนักท่องเที่ยวที่นี่มา 9 ปีแล้ว ด้วยรายได้ชั่วโมงละ 50 บาท แต่ตอนนี้ไม่มีรายได้เลยนับตั้งแต่ COVID- 19 ระบาด ต้องใช้ทุนที่สะสมไว้ในการกินใช้และจ่ายค่าเช่าบ้าน

ส่วนภรรยาที่เป็นพนักงานโรงแรม ก็ถูกลดการจ้างให้ทำงานเพียงครึ่งเดือนสลับกับพนักงานคนอื่นๆ ให้พออยู่รอดร่วมกันไปได้ แม้ว่าถ้าย้ายกลับภูมิลำเนา ค่าครองชีพจะถูกกว่า แต่ก็กลับไม่ได้ เพราะลูกต้องเรียนในโรงเรียนที่สมุย และกลับไปก็ไม่มีอาชีพรองรับ

ทรัพยากรธรรมชาติ ต้นทุนของสมุยที่ไม่ล่มสลาย

ต่างกับชาวสวนผลไม้ สวนมะพร้าว สวนผัก ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นดั้งเดิม ราวฟ้ากับดิน พวกเขาบอกว่า ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เพราะผลิตผลของสวนของพวกเขามีคนกลางรับซื้อตลอดเวลาทั้งของสดและแปรรูป

แม้ว่าบางส่วนคนดั้งเดิมจำนวนไม่น้อย ที่ผันตัวเองมาประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และเกสต์เฮ้าส์ แต่ก็ตั้งอยู่บนต้นทุนของตัวเอง ทั้งที่ดิน วิถี ภูมิปัญญา และอาหาร การที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ก็ไม่เดือดร้อน ยังดำรงชีวิตและธุรกิจอยู่ได้อย่างปกติ

บ้านสวนลางสาด เป็นตัวอย่าง เพราะนอกจากมีลางสาดเกาะสมุย ที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ส่งออกไปยังตลาดผลไม้แล้ว ยังแปลงพื้นที่หน้าสวนเป็นร้านอาหารท้องถิ่นที่หากินไม่ได้จากร้านและโรงแรมทั่วไป โดยรับจองเพียง 4 โต๊ะต่อวันเท่านั้น เพราะใช้พืชผักปลอดสารพิษในสวนมาทำอาหาร โดยเฉพาะน้ำพริกสูตรเฉพาะ ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวไทยต้องจองคิวกันเข้าไปชิมและเช็คอิน

บ้านสวนลางสาด เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสมุยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกลักษณะเช่นนี้จำนวนไม่น้อย

เมื่อ Sea Sand Sun อาจไม่ตอบโจทย์

จากปัญหาเศรษฐกิจเกาะสมุยที่ล่มสลาย ไทยพีบีเอสได้ศึกษาข้อมูลและเข้าไปประสานงานเครือข่ายทั้งสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน โรงแรม ร้านอาหารที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไป หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อหาทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจยั่งยืนที่จะไม่ล้มครืนจากผลกระทบลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต

 

วงสนทนาเกือบ 30 คนจากภาคส่วนเหล่านั้น ร่วมระดมสมองด้วยการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งมองจากปัญหาภายนอก และภายในของธุรกิจเอง และพยายามเสนอทางออกที่หลากหลาย

เพราะการเดินทางมาที่เกาะสมุยไม่ได้ง่าย ตั๋วเครื่องบินมีราคาแพง ถ้ามาทางเรือก็ต้องใช้เวลานาน ทำให้นักท่องเที่ยวจำกัดเฉพาะกลุ่มต่างชาติ รัฐต้องเข้ามาควบคุมให้ไม่ผูกขาดการเข้าเกาะแบบนี้ ตลาดท่องเที่ยวเราจึงจะขยายได้

ผู้ประกอบการโรงแรมคนหนึ่งกล่าว

ระบบการขนส่งมวลชนบนเกาะไม่สะดวก และราคาแพง จะไปไหนก็ต้องเช่าหรือเหมารถ ทำให้นักท่องเที่ยวก็เล่าลือกันไปปากต่อปากเหมือนกัน อันนี้ทางท้องถิ่นก็ควรเข้ามาจัดระบบให้สะดวก คุณภาพดี ราคาเหมาะสม ให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว

ผู้ประกอบการอีกคนหนึ่งให้ข้อมูล

คุ้นชินกับชาวต่างชาติ มองไม่เห็นตลาดคนไทย

“ผมว่า เราต้องยอมรับเหมือนกันว่า ที่ผ่านมาเราขายแต่หาดทราย ชายทะเลให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราก็ขายแต่ Sea Sand Sun มีอยู่เท่านี้ แล้วเราก็ไม่เคยทำตลาดกับคนไทยเลย พอมาวันนี้ต่างชาติเข้ามาไม่ได้ แม้ว่าวันนี้ราคาตั๋วเครื่องบินก็ลดลงจนคนไทยบินได้ แต่เราก็คิดไม่ออกว่าจะทำตลาดกับคนไทยยังไง จะดึงดูดให้เขามาเที่ยวได้ยังไงนอกจากแค่ Sea Sand Sun ที่มีอยู่”

อีกผู้ประกอบการหนึ่งให้ความเห็น

ปัดฝุ่นต้นทุนเดิม

ในวงสนทนาได้ชวนกันพิจารณาต้นทุนของสมุยว่า นอกจาก Sea Sand Sun แล้ว ยังมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวอีกมาก ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของสมุย

นอกจากบ้านสวนลางสาด ยังมีบ้านมะพร้าวที่เป็นทั้งสวนและอุตสาหกรรมขนาดย่อมในการแปรรูปมะพร้าวเป็นทั้งอาหาร เครื่องสำอางค์ เครื่องแต่งห้อง ของที่ระลึก ยังมีสวนพืชผักผลไม้ปลอดเคมี มีสถาปัตยกรรมโบราณ วิถี การละเล่น และประเพณีเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

ทบทวนของดีพื้นถิ่นที่มากกว่า Sea Sand Sun

“อย่างการกินห่อนี่ใครรู้จักบ้าง มีที่สมุยที่เดียว กวนกาละแมแบบสมุยก็ไม่เหมือนที่อื่น ประเพณีเดือนสิบ ชักพระ ที่นี่ก็ไม่เหมือนที่อื่น ส่วนการละเล่นเราก็มีปลากัด ควายชน ไม่ใช่มีแค่มวยไทยที่ไว้ขายต่างชาติ อาชีพของเรายังมีประมง ทำสวนสมรม สวนมะพร้าว การทำน้ำมันมะพร้าวที่เป็นสูตรเฉพาะ อาชีพหัตถกรรมจักสานงานฝีมือ

วิถีมุสลิม สถาปัตยกรรมโบราณ ศาสนสถานโบราณ พวกนี้น่าสนใจทั้งนั้น เวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราไปชมที่ต่างๆ กิจกรรมวิถีต่างๆ เพราะมันมีเรื่องเล่า ทำอย่างไรให้เราค้นหาเรื่องเล่าของสิ่งเหล่านี้ให้เจอ” ผู้ร่วมวงสนทนาคนหนึ่งกล่าว

สิ่งที่เรามีอยู่เยอะแยะมากมาย แต่เราก็ต้องฟื้นฟูพัฒนามันขึ้นมา เราต้องคิด 2 เรื่องคือรักษาสิ่งที่มีอยู่ และฟื้นฟูสิ่งที่หายไป ทีนี้ เราจะทำอย่างไร เช่น เมนูอาหารท้องถิ่น การละเล่น ประเพณี ความหมายของลายแกะสลักบนสถาปัตยกรรม

เหล่านี้เราจะทำอย่างไรให้มีการรวบรวมมาจากผู้รู้ จากปราชญ์ชาวบ้าน เอามาจัดทำเป็นข้อมูล แล้วบรรจุไว้ในเมนูอาหารโรงแรม เมนูโรงเรียนได้ไหม บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนได้ไหม” ผู้ร่วมวงสนทนาคนอีกหนึ่งกล่าวสนับสนุน

พบเห็นของดีมากมาย ในวันที่ได้แลกเปลี่ยน

เมื่อมีคำถามว่า ต้นทุนดั้งเดิมของสมุยเหล่านี้ สามารถจัดให้เข้ากับการท่องเที่ยวได้หรือไม่ ผู้ประกอบการโรงแรมคนหนึ่งตอบว่า “ของพวกนี้สามารถจัดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวได้หมด แต่ข้อมูลพวกนี้ผมไม่เคยรู้เลย พอฝรั่งถามว่าไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง เราก็รู้จักแต่หาดที่นั่นที่นี่ หินตา หินยาย ที่กินเที่ยวกลางคืน หรืออย่างมากก็ไปดูโชว์ลิงเก็บมะพร้าว” เขาตอบพร้อมกับจดข้อมูลสถานที่ต่างๆ เหล่านั้นลงในสมุดโน้ต

เมื่อชุมชนกับธุรกิจท่องเที่ยวมาเจอกัน พวกเขาได้ข้อสรุปว่า ต้นทุนสมุยมีทั้งด้านธรรมชาติ นอกจากหาดทราย ชายทะเล ยังมีภูเขา น้ำตกด้วย และด้านอัตลักษณ์ของชีวิต วิถีชุมชนคนสมุย ที่ควรจะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันแบบเป็นหุ้นส่วนแห่งความยั่งยืน

และควรจัดการท่องเที่ยวแบบร่วมกิจกรรม เพื่อศึกษาเรียนรู้ที่จะเป็นทั้งเสน่ห์และสนุก เช่น ไปกวนกาละแม ทำน้ำมันมะพร้าวสูตรเฉพาะ ชิมผลไม้ในสวน เรียนรู้การทำหัตถกรรมจักสาน ช็อปสินค้างานฝีมือ และร่วมประเพณีต่างๆ ตามฤดูกาล เป็นต้น โดยไม่ใช่เป็นการขายทัวร์ที่เพียงแสดงโชว์

ฟ้าใหม่สมุยหลัง COVID กับแนวทางการไปต่อ

นอกจากแนวคิดที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันในเรื่องของการทำตลาดการท่องเที่ยวสมุยกับนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ๆ ที่มองหามิติอื่นๆในการท่องเที่ยวนอกจากหาดทราย ชายทะเล โดยหยิบอัตลักษณ์ดั้งเดิมของสมุยทั้งด้านอาหาร ด้านอาชีพ ด้านวิถี ประเพณี วัฒนธรรม ด้านสถาปัตยกรรม และด้านการละเล่น ขึ้นมาเป็นจุดขาย

การระดมความเห็นของวงสนทนานี้ ยังไปไกลถึงข้อเสนอเชิงกลไกการจัดการ เพื่อให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

ที่สำคัญคือ ข้อเสนอให้แบ่งกลุ่มดำเนินการเป็นทีม เช่น ทีมศึกษาตลาดนักท่องเที่ยว ทีมจัดทำข้อมูลและเรื่องเล่าของต้นทุนสมุยด้านต่างๆ ที่อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามแต่ละเรื่อง

กลุ่มพัฒนาต้นทุนจากข้อมูลและเรื่องเล่าให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว กลุ่มทำตลาดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกขายออกไปทางออนไลน์ เพื่อดึงการท่องเที่ยวกลับเข้ามาอีกทอดหนึ่ง

ร่วมจัดตั้งองค์กรเพื่ออยู่รอดอย่างยั่งยืน

รวมทั้งมีข้อเสนอให้ดำเนินการกลไกเหล่านั้น ด้วยการจัดตั้งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยยืนอยู่บนฐานความคิดด้านชุมชนจัดการตนเองเพื่อให้อยู่รอดอย่างแข็งแรง ยั่งยืนไปด้วยกันทั้งธุรกิจและชุมชน

ศิริวัฒน์ คันธารส

ศิริวัฒน์ คันธารส ผู้ทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในการพูดคุยวงสนทนาครั้งนี้ ประเมินเมื่อจบงานว่า มีโอกาสในการเดินทางไปต่อในแนวทางนี้ได้สูง เพราะแม้แต่ละฝ่ายจะต่างประสบการณ์ต่างความเชื่อกันมา แต่ก็สามารถพูดคุยถกเถียงกัน เรียนรู้ข้อมูลและความคิดกัน จนเกิดทางออกร่วมกัน

ผมเห็นความพยายามในการไปต่อร่วมกัน อย่างน่าสนใจทีเดียว ผมว่าแต่ละเรื่องย่อยๆ น่าจะมีเจ้าภาพเพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม แบบกลุ่มไหนทีมไหนไปต่อได้ก็ไปก่อน อาจใช้วิธีจับคู่ธุรกิจระหว่างชุมชนหนึ่งกับโรงแรมหนึ่งก่อนก็ได้ พร้อมตรงไหนก็เริ่มตรงนั้น ไม่ต้องรอขยับพร้อมกันก็ได้

เรื่องไหนขาดอะไรก็ใช้วิธีประสานเครือข่ายภายนอกมาช่วย ที่สำคัญคือต้องต่อภาพใหญ่ให้เจอกันทั้งข้อมูลต้นทุนและธุรกิจเพื่อนำเอาไปออกแบบจัดการท่องเที่ยวที่โตไปด้วยกันทั้งชุมชนและธุรกิจ ผมว่าวิน-วินนะ เพราะโรงแรมก็มีของขาย ขยายตลาดได้ ชุมชนก็เข้าถึงลูกค้าที่กว้างขึ้น” ศิริวัฒน์กล่าว

ดึงสมุยเป็นต้นแบบฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

ขณะที่นิติธร ทองธีรกุล ผู้จัดการฝ่ายเครือข่ายและชุมชนสัมพันธ์ สำนักสื่อสารและภาคีสัมพันธ์ ไทยพีบีเอส บอกว่า เห็นความตื่นตัวของทั้งชุมชนและธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องการไปต่อร่วมกันอย่างเกินคาด

ถ้าคนสมุยพร้อมจะเดินหน้า เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนในการจัดกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยน เชื่อมเครือข่ายภายนอกเข้ามาช่วย เช่น เรื่องการตลาด การจัดการข้อมูล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

เรามีโครงการพื้นที่อาหาร พื้นฐานอาชีพ ที่อาจมีสมุยเป็นต้นแบบก็ได้ในการเป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงธุรกิจและชุมชน ให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจนี้ไปด้วยกัน

ความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสมุยด้วยวิธีนี้ อาจเป็นเพียงหนึ่งฉาก แต่ยังมีความพยายามขับเคลื่อนการฟื้นฟูสมุยด้วยวิธีการอื่นๆด้วย เช่น กำลังมีการผลักดันร่างกฎหมายให้สมุยเป็นเมืองพิเศษที่จะสามารถทำให้เกิดการบริหารจัดการเมืองทั้งการท่องเที่ยว ขยะ ขนส่งมวลชน และอื่นๆ ได้รอบด้านและยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง