อภ.เดินหน้าปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดที่ชลบุรี

สังคม
8 ต.ค. 63
14:20
1,987
Logo Thai PBS
อภ.เดินหน้าปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดที่ชลบุรี
องค์การเภสัชกรรม พัฒนาการเพาะปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ในโรงเรือนและกลางแจ้งในพื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เพื่อให้ได้ผลผลิตจากกัญชาหลากหลายสายพันธุ์ที่สร้างสารสำคัญสูง ทั้ง CBD เด่น, THC เด่น, CBD : THC (1:1) รวมทั้งสายพันธุ์ไทย

วันนี้ (8 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด "โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน" ที่องค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารในพื้นที่ จ.ชลบุรี ร่วมในพิธี

 


นายอนุทิน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน และมีความตั้งใจจริงที่ให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์มีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมและปลอดภัย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อยู่ 3 รูปแบบหลัก คือผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา เช่น ผลิตภัณฑ์ CBD เด่น ผลิตภัณฑ์ THC เด่น ผลิตภัณฑ์ THC : CBD 1 : 1 ขององค์การเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม และผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาตำรับหมอพื้นบ้าน

กระตุ้นสังคม - ดำเนินงานครบวงจร

สำหรับการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน มาตรฐานเมดิคัลเกรด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งจะต้องดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกกัญชาให้ได้วัตถุดิบที่มีสารสำคัญได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด ปราศจากสารพิษ สารเคมี การแปรรูป การสกัด และการผลิตเป็นยา ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพียงพอกับความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และลดต้นทุนต่อหน่วยให้มีราคาถูกลง

 

 

รวมทั้งการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการเก็บข้อมูลการรักษาเพื่อนำไปศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มขึ้น จึงขอให้สถานพยาบาลนำผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้มาตรฐานไปใช้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น และให้ประเทศไทยมีข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นมาตรฐาน มีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเอง เป็นทางเลือกในการนำยาจากกัญชาไปใช้ในการรักษาโรค หรืออาการของโรคต่างๆ

พัฒนา "สายพันธุ์" ให้สารสำคัญสูง

นอกจากนี้ ได้สร้างโรงเรือน พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีระบบการเพาะปลูกอีก 4 โรงเรือน 3 ระบบ ที่มีการสร้างสภาวะการปลูกที่แตกต่างกัน และปลูกกลางแจ้ง บนพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูง และเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต

 

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปจะผลิตในระดับอุตสาหกรรม ขยายการปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน องค์กร หน่วยงานอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตสารสกัดให้มากขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ครีม แผ่นแปะ ยาเหน็บ แคปซูลเจล เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย


การดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน และกลางแจ้ง บนพื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ในการดำเนินการ 1,552 ตารางเมตร รองรับการปลูกกัญชาได้ประมาณ 1,300 ต้นต่อปี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต โดยเน้น 3 สายพันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้ง CBD เด่น THC เด่น CBD : THC (1:1) และสายพันธุ์ไทย

"ปลูกกัญชา" ในโรงเรือน 3 ระบบ

 

ทั้งนี้ ดำเนินการปลูกในโรงเรือน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบที่ 1 โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ จำนวน 1 โรงเรือน โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง จึงเป็นระบบที่สามารถลดอุณหภูมิได้และมีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะเจริญทางลำต้น

ระบบที่ 2 โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น จำนวน 1 โรงเรือน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นได้ดี รวมทั้งกรองอากาศและป้องกันโรค อาทิ ราชนิด botrytis และราแป้ง โดยระบบนี้มีการทำงานผสมผสานระหว่าง compressor ที่ใช้น้ำยาแอร์ ร่วมกับ LiCl solution ซึ่งสามารถทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่าการติดตั้ง air conditioner อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 19% เมื่อเทียบกับการติดตั้ง air conditioner และระบบควบคุมความชื้นที่เหมาะสม จึงเหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะออกดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพ

 

 

ระบบที่ 3 โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ จำนวน 2 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบเปิด มีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้า และติดตั้งตาข่ายสำหรับกันแมลงขนาดใหญ่ เป็นโรงเรือนที่ต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย นอกจากนั้น ยังได้ทำการปลูกแบบกลางแจ้ง เพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาควบคู่กันไปด้วยในพื้นที่บริเวณเดียวกัน

ช่วยลดนำเข้ายาจากต่างประเทศ

นายอนุทิน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะได้องค์ความรู้จากการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาได้ในอนาคต ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง