รู้จัก "โรค ALS " พรากนักบอลดังทีมชาติ "คีแกนเมืองไทย"

กีฬา
8 ต.ค. 63
15:55
2,950
Logo Thai PBS
รู้จัก "โรค ALS " พรากนักบอลดังทีมชาติ "คีแกนเมืองไทย"
ร.ต.ศักดริน ทองมี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดประวัติศาสตร์ปรีโอลิมปิก หลังรักษาตัวมานาน 4 ปี ด้วยภาวะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) หมอชี้ยังไม่มีวิธีรักษาหายขาด ทำได้แค่ประคับประคองอาการ แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารมีประโยชน์ ควบคุมความเครียด

กรณีร.ต.ศักดริน ทองมี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดประวัติศาสตร์ปรีโอลิมปิก อดีตแข้งช้างศึกชุดปรีโอลิมปิก เจ้าของฉายา"คีแกนเมืองไทย" เสียชีวิตแล้ว หลังรักษาตัวมานาน 4 ปี ด้วยภาวะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS)

วันนี้ (8 ต.ค.2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรค ALS เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทในสมอง และไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ มีความผิดปกติทำให้กล้ามเนื้อตามแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด หายใจลำบาก

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด

ด้านนพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้แต่ต้องกินยาตามแพทย์สั่งตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้ดูแลต้องพยายามให้ผู้ป่วย ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับ และการติดของข้อ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความร้อนละความเครียด รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่มและไม่ต้องเคี้ยวมาก นอกจากนี้ คนในครอบครัวและญาติต้องให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขที่สุด

ตอนนี้ยังรู้สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการและประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานที่สุด ระยะเริ่มต้น จะรู้สึกว่า มือ เท้า แขนขาอ่อนหรือไม่มีแรง เช่น เดินแล้วล้มบ่อย ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น

เช็กอาการก่อนสาย

หลังจากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น โดยมีอาการกล้ามเนื้อแขนและขาลีบ รับประทานอาหารลำบาก พูดไม่ชัด ระยะที่สอง อาการจะหนักขึ้นจนลามไปถึงระบบหายใจ ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีอาการเหนื่อยง่ายจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้อาหารและน้ำทางสายน้ำเกลือ และอาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย มีดังนี้ ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี หากได้รับเชื้อหรือป่วย ควรรีบพบแพทย์ทันที หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ควบคุมความเครียด หลีกเลี่ยงการรับหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลงหรือพวกโลหะหนักและรังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้น ทำให้เซลส์เสื่อมสภาพและตาย ที่สำคัญออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหากสงสัยว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

ทั้งนี้ ทางสถาบันประสาทวิทยาเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการจัดตั้งคลินิกเฉพาะโรคเอแอลเอส และโรคของระบบเส้นประสาทกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างต่อเนื่องและครบวงจร รวมถึงสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง