ค้านโรงโม่หินสุราษฎร์ธานี อ้างกระทบสิ่งแวดล้อม

ภูมิภาค
8 ต.ค. 63
17:25
1,559
Logo Thai PBS
ค้านโรงโม่หินสุราษฎร์ธานี อ้างกระทบสิ่งแวดล้อม
ชาวตำบลบ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี รวมตัวคัดค้านการคำขอประทานบัตรของบริษัทสุราษฎร์ผาทอง จำกัด กว่า 240 ไร่ หวั่นส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่การทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ไม่โปร่งใส

วันนี้ (8 ต.ค.2563)  ทีมข่าวรายการสถานีประชาชน ลงพื้นที่สำรวจเหมืองแร่หินปูนเขาหลัก เนื้อที่กว่า 243 ไร่ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ของ บริษัท สุราษฎร์ผาทอง จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรใหม่ ในเขตพื้นที่เดิม เลขที่ 16/2557 หลังหมดอายุสัญญามาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังมีชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลบ้านทำเนียบ ได้รวมตัวกันร้องเรียน เพือคัดค้านผลการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA โดยเฉพาะขั้นตอนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น


ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งให้ข้อมูลว่า วันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านใช้เวทีประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เปิดรับฟังความคิดเห็น เรื่องการขอประทานบัตรใหม่ของเหมืองแร่หินปูน โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง ว่าจะมีการเปิดรับฟังความเห็นเรื่องนี้

จากการตรวจสอบรายชื่อ พบ มีผู้เข้าร่วมประชุม 221 คน จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดกว่า 600 คน  โดยมีมติออกมา ว่าเห็นด้วย 147 คน และไม่เห็นด้วย 63 คน ชาวบ้านกลุ่มคัดค้าน มองว่า การที่คนเข้าร่วมประชุมไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และไม่มีการแจ้งให้ทราบอย่างทั่วถึง คือความผิดปกติของขั้นตอนการทำ EIA ขณะที่ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันว่า เป็นไปตามขั้นตอน ตัวแทนชาวบ้านหมู่ 1 ต.บ้านทำเนียบ จึงรวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำ EIA ใหม่ทั้งหมด


จากข้อมูลพบว่า ขอบเขตพื้นที่ทำเหมืองแร่หินปูน ของบริษัท สุราษฎร์ผาทอง จำกัด เดิมอยู่ในพื้นที่หมู่ 7 ครบอายุสัญญาในปี 2561 บริษัทจึงได้ยื่นขอประทานบัตรใหม่ ในเขตพื้นที่เดิม ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งหากได้รับประทานบัตร จะทำให้มีอายุสัญญาอีก 30 ปี

เอกสารการยื่นขอประทานบัตรใหม่ บริษัทได้ขอขยายแนวเขตเพิ่มเติม และปรับรูปแผนที่ ในการทำเหมืองแร่หินปูน โดยบริษัทอ้างว่าทั้งหมดเป็นไปตามหลักวิศวกรรมเหมืองแร่ ทำให้แผนที่ใหม่ทำเหมืองแร่ใหม่ มีขอบเขตขยายขึ้นไปด้านบนเขาหลักในรูปแบบขั้นบันได และบางส่วนขยายเข้าไปในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 เป็นเหตุให้ต้องจัดทำ EIA ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ด้วย


แต่ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของกระบวนการทำ EIA จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านอ้างว่า หลายขั้นตอนมีความไม่ชัดเจน ทั้งกรณีแนวเขตแผนที่ฉบับใหม่ ที่ระบุใน EIA กับข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับไม่ตรงกัน รวมถึงข้อสงสัยในประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน  หลังกรมที่ดินตรวจสอบพบ พื้นที่ตำบลบ้านทำเนียบทั้งหมดกว่า 6 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ นสล. เหตุใดก่อนหน้านี้ จึงมีการอนุญาตทำเหมืองแร่หินปูนเกิดขึ้นในพื้นที่ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง