ทวิตเตอร์ไล่ปิดบัญชีปลอม-กำจัดข่าวลวง

ต่างประเทศ
9 ต.ค. 63
19:51
715
Logo Thai PBS
ทวิตเตอร์ไล่ปิดบัญชีปลอม-กำจัดข่าวลวง
การปิดบัญชีผู้ใช้งานของทวิตเตอร์ นอกจากประเทศไทยแล้วยังมีอีก 4 ประเทศที่ถูกปิดบัญชีรวมกันมากกว่า 600 บัญชี คือ อิหร่าน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบียและคิวบา บางประเทศใช้บัญชีปลอมปั่นกระแสความรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีที่ถูกสร้างขึ้นมาโจมตีคู่แข่งทางการเมือง

วันนี้ (9 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทวิตเตอร์ ออกแถลงการณ์ว่าได้ปิดบัญชีผู้ใช้งานที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐบาล โดยรัสเซียถูกปิดไป 5 บัญชี ซาอุดีอาระเบีย 33 บัญชี อิหร่าน 104 บัญชี และคิวบา 526 บัญชี

ทวิตเตอร์ ระบุถึงเหตุผลในการปิดบัญชีผู้ใช้งานในอิหร่านว่า พยายามขยายประเด็นละเอียดอ่อนในสหรัฐฯ อย่างประเด็น Black Lives Matter ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีผิว ที่ตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีหลายต่อหลายครั้ง และพบว่าบัญชีเหล่านี้มีเจตนาแอบแฝง ต้องการปลุกปั่นความรุนแรงในสหรัฐฯ ขณะที่ในซาอุดีอาระเบีย มีการสร้างบัญชีปลอมที่แอบอ้างเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของกาตาร์

ส่วนที่คิวบา พบว่าองค์กรเยาวชนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลคิวบาสร้างบัญชีผู้ใช้งานปลอม ขณะที่ในรัสเซียพบว่ามีบัญชีปลอมที่เชื่อมโยงกับองค์กรด้านข่าวปลอม "PeaceData" ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานวิจัยอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งประเด็นนี้ย้อนแย้งมาก เพราะ PeaceData นิยามตัวเองว่าเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวที่เชื่อถือได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเว็บไซต์ที่เน้นเผยแพร่ข่าวปลอม

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทวิตเตอร์ออกมาไล่ปิดบัญชีปลอม เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์ตกเป็นจำเลยสังคมที่ปล่อยให้บุคคลหรือองค์กรใช้ช่องทางเหล่านี้เผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อสร้างความวุ่นวายในสังคม รวมถึงแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง นอกจากนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในหลายประเทศ ที่ใช้ช่องทางเหล่านี้แทรกแซงการเมืองในต่างประเทศ ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กหันมาปรับนโยบายและกวาดล้างบัญชีปลอมเป็นระยะๆ

 

เมื่อเดือน ก.ย.2563 ทวิตเตอร์ได้ปรับนโยบายและแนวทางการใช้งานให้ชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่าทวิตเตอร์คือพื้นที่ของการสื่อสาร การค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ เป็นพื้นที่ที่แสดงความเห็นได้อย่างเสรีและปลอดภัย เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ ทวิตเตอร์จะต้องไม่กลายเครื่องมือสร้างความรุนแรงหรือหลอกลวง โดยทวิตเตอร์ไม่อนุญาตให้ใช้บัญชีปลอม ภาพโปรไฟล์ปลอมที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด รวมถึงการสร้างบัญชีปลอมหลายๆ บัญชี เพื่อใช้สร้างกระแสปลอมๆ ขึ้นมา

บทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนนโยบายของทวิตเตอร์ มีตั้งแต่ถูกล็อกบัญชีไว้ชั่วคราว ถูกลบข้อความที่ละเมิดนโยบาย และบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดคือปิดบัญชีถาวร แต่นักวิเคราะห์มองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเหมือนแมวไล่จับหนู เพราะแม้จะถูกปิดบัญชี แต่ก็สามารถเปิดบัญชีใหม่ได้ทันที และอาจจะเปิดเยอะกว่าของเดิมที่ถูกปิดไป ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายจะต้องหามาตรการใหม่ๆ มารับมือให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทวิตเตอร์เปิดข้อมูล "926 บัญชีไอโอ" เอี่ยวกองทัพไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง