โมเดล "ศูนย์เด็กเล็กวัดโพธิวราราม" ครูอบอุ่น-เสริมไอเดีย

สังคม
18 ต.ค. 63
11:33
954
Logo Thai PBS
โมเดล "ศูนย์เด็กเล็กวัดโพธิวราราม" ครูอบอุ่น-เสริมไอเดีย
สมศ.เปิดต้นแบบ "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม" เน้นครูอบอุ่น-เสริมไอเดีย-พัฒนาอัจฉริยภาพ พร้อมโชว์โมเดลการสอนแบบ "บีบีแอล" วิเคราะห์ความแตกต่างของเด็ก พัฒนาตามความเหมาะสมรายบุคคลและช่วงวัย

พัฒนาการที่ดีของเด็กเริ่มต้นขึ้นได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กอายุตั้งแต่ 2-3 ขวบ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัย "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม" เป็นโมเดลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.อุดรธานี

ที่นี่ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะพัฒนาการเด็กปฐมวัย ค่อย ๆ สะสมความรู้จนเกิดเป็นทักษะเพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น พร้อมนำคำแนะนำของสำนักงานรับรองมาตรฐานแลประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มาปรับปรุงจนผลการประเมินรอบ 4 ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด จากต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเป็นได้ผลประเมินระดับดีมาก

 

โมเดล BBL เรียนรู้เหมาะสมรายคน-ช่วงวัย

นางสายหยุด น้อยชื่น หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม จ.อุดรธานี เล่าว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวราราม เปิดรับเด็กตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ 11 เดือน ขณะนี้มีเด็ก 54 คน โดยการเรียนการสอนภายในศูนย์จะมีการแบ่งห้องเรียนออกเป็น 3 ห้องตามเกณฑ์อายุ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะสมกับช่วงวัย ที่ผ่านมาทางศูนย์ได้นำเอาผลการประเมินภายนอกมาปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านการสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ BBL (Brain-based Learning) เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองในเด็กแต่ละคน แต่ละช่วงวัย โดยการกระตุ้นสิ่งที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ เนื่องจากทางศูนย์เห็นว่าเด็กในช่วงวัยนี้แต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกัน

6 กิจกรรมเสริมเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัว

ศูนย์ฯ จัด 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ, กิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์, กิจกรรมสร้างสรรค์ ให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง, กิจกรรมเสรีให้เด็กเลือกเล่น และเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจ, กิจกรรมกลางแจ้ง และเกมเกี่ยวกับการศึกษา แต่ละกิจกรรมจะเน้นการสร้างประสบการณ์ผ่านสิ่งใกล้ตัวเด็ก โดยให้เด็กออกมาเล่าสั้น ๆ ว่า เมื่อเช้าก่อนมาโรงเรียนพวกเขาทำอะไรบ้าง พบอะไรที่กระตุ้นให้พวกเขารู้สึกสนใจ ช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกและยังเป็นการร่วมแชร์ประสบการณ์ให้กับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน

 

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมสร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากสิ่งของ โดยทางศูนย์จะใช้ของจริงทั้งหมด เช่น การสอนให้เด็กรู้จักผลไม้ผ่านผลไม้จริง ๆ ก่อนที่จะให้เด็กเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอ รวมไปถึงการสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เรียน ผ่านการให้เด็กได้ลองเลือกทำกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ เช่น กิจกรรมเสรีที่ให้เวลา 1 ชั่วโมง เด็กจะเลือกมุมเล่นหรือทำกิจกรรมตามที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีเสริมสร้างสมาธิ, มุมหนังสือนิทานที่มีครูพี่เลี้ยงเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง เพื่อสร้างประสบกาณณ์และคติสอนสอดแทรก

ดูแล "เด็ก" เหมือนคนในครอบครัว

หลังจากได้เริ่มพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กผ่านการสอนแบบ BBL พบว่า พัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เด็กเข้าใจและสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ต่อยอดสู่การทำแบบฝึกหัด วาดภาพ ระบายสีได้จริง อีกทั้งยังส่งผลให้ผลการประเมินภายนอกของรอบที่ผ่านมาได้รับการประเมินด้านทักษะความคิดสร้างสรรค์ในระดับดีเยี่ยม ส่วนการพัฒนาด้านจิตใจนั้น ให้ครูทุกคนคอยเอาใจใส่เด็ก ๆ และปฏิบัติเหมือนคนในครอบครัว เพื่อสร้างความอบอุ่นและให้เด็กเกิดพฤติกรรมการอยากมาโรงเรียน แนวทางดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเด็กในช่วงที่เด็กต้องศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

กิจกรรมการเรียนการสอน มุ่งเน้นครูให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ใช้กิจกรรม 6 หลักให้เด็กได้เรียนรู้และใช้สื่อการเรียนการสอนให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย

 

ท้องถิ่นร่วมดูแล

ไม่เพียงการดูแลจากที่บ้านและศูนย์เด็กเล็กเท่านั้น ท้องถิ่นถือเป็นส่วนสำคัญในการร่วมดูแลเด็กเล็กในชุมชน นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า เทศบาลนครอุดรให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการสร้างพื้นฐานด้านการเรียนรู้ในช่วงวัยเด็ก ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะส่งต่อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนในระดับชั้นต่อไปได้ สิ่งที่ให้ความสำคัญคือการสร้างบรรยากาศภายในศูนย์ฯ ให้เกิดความอบอุ่น ปลูกฝั่งการอยากมาโรงเรียนให้กับเด็ก ทำให้เด็กอยู่โรงเรียนแล้วมีความสุขที่สุด เพราะทางเทศบาลเห็นว่าหากเด็กเกิดพฤติกรรมอยากมาโรงเรียนจะช่วยต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ได้อย่างดี

 

นอกจากนี้ เทศบาลยังได้ให้ความสำคัญในการนำผลการประเมินการจาก สมศ.ไปใช้สำหรับการพัฒนาสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะในรอบที่ผ่านมา ๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีผลการประเมินที่ไม่ค่อยดีมากหนัก ดังนั้นหลังจากได้รับข้อเสนอแนะจาก สมศ. ทางเทศบาล ศึกษานิเทศก์จังหวัด และศูนย์จึงได้มีการหารือร่วมกัน และเริ่มลงมือพัฒนาตามข้อเสนอแนะของ สมศ. จนปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโพธิวรารามได้รับการประเมินในระดับดีมาก มาตรฐานการเรียนรู้ ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 90

ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงศูนย์ เช่น อบรมครู, หาแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง, จัดเมนูอาหาร Thai School Lunch ให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน และส่งเสริมเด็กตามศักยภาพของแต่ละคน

ผลประเมินครั้งแรกต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน จึงเรียกประชุมทันที โดยนำคำแนะนำ สมศ.ไปปรับปรุง จนกระทั่งได้ผลประเมินดีมาก ถือเป็นความภาคภูมิใจ

สมศ.หวังใช้ผลประเมินพัฒนาศูนย์เด็ก

ขณะที่ ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า สำหรับการประเมินในรอบที่ผ่าน ๆ มา สมศ. ได้เน้นการส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลการประเมินไปปรับใช้ในการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้เรียน โดยเฉพาะการนำผลการประเมินไปใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อสร้างมาตรฐานการการศึกษาที่ดีให้แก่เด็กในช่วงเริ่มต้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกรูปแบบใหม่นี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานให้แก่สถานศึกษา และการส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลการประเมินภายนอกไปใช้ เพราะเห็นตัวอย่างจากสถานศึกษาหลายแห่งที่ได้รับผลการประเมินดีขึ้นค่อนข้างดี โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวผู้เรียน

 

การประเมินภายนอกรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มประเมินในเดือนธันวาคม 2563 สมศ. คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากสถานศึกษาทั่วประเทศ และภายหลังการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว สถานศึกษาและต้นสังกัดจะนำผลการประเมินของ สมศ.มาปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ ขอให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศดูแลคุณภาพครู การจัดการเรียนการสอน และการจัดสภาพสิ่งแวดล้อม โดยนำผลประเมินไปปรับใช้ ต่อยอดให้เด็กมีความพร้อมศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ศูนย์เด็กเล็ก เปรียบเสมือนการตอกเสาเข็มที่ต้องแข็งแรง เพื่อพัฒนาเด็กในช่วงวัยต่อไป ถ้าฐานไม่ดี บ้านก็มีโอกาสทรุด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง