เปิด 3 ช่อง รธน. ลุ้น 10 วัน! เปิดประชุมสภาฯ

การเมือง
20 ต.ค. 63
10:24
4,230
Logo Thai PBS
เปิด 3 ช่อง รธน. ลุ้น 10 วัน! เปิดประชุมสภาฯ
ตรวจ รธน. 3 ช่องทาง เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ดึง ส.ส. ร่วมหา "ทางออก" ประเทศ สัญญาณดี! นายกฯ ยอมรับข้อเสนอ ส.ส.ประชุมนอกรอบหนุนเปิดสภาฯ

ภายหลัง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุว่า แม้มีตำแหน่งประธานรัฐสภา ไม่มีสิทธิเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้ แต่การเรียกประชุมในสมัยวิสามัญนั้น มี 2 แนวทาง คือ รัฐบาลเป็นผู้เสนอ หรือ สมาชิกรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ร่วมลงชื่อยื่นเจตจำนงเพื่อเปิดประชุมเท่านั้น

 

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภาฯ และรัฐสภา พบว่า การประชุมสมัยสามัญ ให้มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 120 วัน ส่วนการเปิดประชุมสมัยวิสามัญนั้น เปิดประชุมได้ตามเงื่อนไขใน มาตรา 122 และ มาตรา 123 นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้มีการประชุมสภาฯ หรือประชุมรัฐสภา โดยอาศัย มาตรา 165 ได้ด้วย 

มาตรา 122 วรรค 3 วรรค 4 มีสาระสำคัญ คือ ครม. เป็นผู้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ

มาตรา 123 มีสาระสำคัญระบุว่า ส.ส.และส.ว. สามารถร่วมกันเข้าชื่อ หรือเฉพาะ ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา (245 คน) ยื่นต่อประธานรัฐสภา นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการ ประกาศเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ

มาตรา 165 กรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่ง ครม. เห็นสมควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. นายกฯ สามารถแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งกรณีนี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้

อ่านเพิ่ม รัฐธรรมนูญ ปี 2560

"เพื่อไทย" เปิดเกมประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ

การเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ประเด็นนี้ถูกผลักดันโดยเริ่มจากพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประกาศเดินทางผลักดันให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
โดย พรรคฝ่ายค้าน รวบรวม ส.ส. ได้ 211 คน ขาดอีก 34 คน จึงจะยื่นขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญได้ (เกิน 245 คน)

 

พรรคเพื่อไทยจะเดินสายพบหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรชาติไทย เพื่อขอเสียงสนับสนุน ซึ่งเริ่มพบหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นพรรคแรก เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.2560)

ทั้งนี้ การผลักดันให้เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ถูกตั้งข้อสังเกตจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าการประชุมสภาฯ สมัยสามัญจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งเหลือเวลาอีก 10 วัน

 

วันที่ 18 ต.ค.2563 พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายจุรินทร์ วิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค แถลงข่าวย้ำจุดยืน 3 ข้อ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ขอเป็น "เจ้าภาพ" ในการขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้เป็นเวทีในการหาทางออกของประเทศ และเร่งรัดให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระ 1 ทันที โดยไม่มีเงื่อนไขที่จะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่ายื้อเวลา

พรรคไม่ยึดติดกับการเป็นรัฐบาล แต่พรรคยังมีภารกิจที่ต้องร่วมกับทุกภาคส่วนหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรณีมีเสียงเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเห็นว่าอาจนำไปสู่การยุบสภาฯ และเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิม ซึ่งหากเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะวนกลับเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นพรรคจึงเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาต่างๆ ให้เสร็จโดยเร็ว

นายกฯ ไม่ค้านประชุมสมัยวิสามัญ

เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.2563) ที่ประชุมแกนนำฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล เห็นร่วมกันว่าควรเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ และ นายชวน ได้ส่งหนังสือถึง นายกฯ แจ้งความต้องการของ ส.ส.

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รัฐบาลสนับสนุนให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้พิจารณาร่วมกัน ข้อเท็จจริงหารือกัน ดีกว่าให้เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุด โดยจะนำเรื่องเข้าหารือในการประชุม ครม. วันนี้ (20 ต.ค.2563)

รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้ และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภา ผมขอยืนยันตรงนี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ทำได้ทันทีโดยใช้ มาตรา 122 และ มาตรา 123 แต่มีเงื่อนไขคือ พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสมัญสามัญออกมาแล้วคือวันที่ 1 พ.ย.2563

ดังนั้น ครม.จะต้องประสานกับสภาฯ ให้ดี เพราะหากเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งเหลือเวลาอีก 10 กว่าวัน ที่จะเปิดประชุมสมัยสามัญ วันที่ 1 พ.ย. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และกล่าวว่า "การขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญยังทัน อยู่ที่วาเปิดกี่วันและทำอะไร"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง