เส้นเขตแดนอุปสรรคทวงคืนทับหลังตาเมือนธม

สังคม
20 ต.ค. 63
16:34
1,060
Logo Thai PBS
เส้นเขตแดนอุปสรรคทวงคืนทับหลังตาเมือนธม
ความไม่ชัดเจนเรื่องที่ตั้งตัวปราสาทตาเมือนธมว่าอยู่ในประเทศใด ทำให้ไทยชะลอการทวงคืนทับหลังจากพิพิธภัณฑ์ The MET ในสหรัฐฯ แม้ไทยมีหลักฐานว่า ทับหลังถูกส่งออกอย่างไม่ถูกต้องก็ตาม ขณะที่ มีข้อเสนอจากนักวิชาการให้มองวัฒนธรรมร่วมเหนือเส้นเขตแดน

การหายไปของทับหลังจากปราสาทตาเมือนธม

พ.ศ.2560 คณะกรรมการการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เคยมีมติให้ติดตามทวงคืนทับหลังรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล ปราสาทตาเมือนธม จากพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan (The MET) เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากพบว่าทับหลังชิ้นนี้อยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ พ.ศ.2537 โดยนาย Robert H. Ellsworth นักค้าศิลปะและวัตถุโบราณชาวอเมริกัน เป็นผู้บริจาคให้กับ The MET

ภาพ : ทับหลังรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลจากปราสาทตาเมือนธม ที่พิพิธภัณฑ์ The MET นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

พ.ศ. 2560 คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศฯ ใช้ภาพถ่ายตัวทับหลัง 2 ภาพ พิสูจน์ว่าทับหลังรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ The MET เป็นศิลปวัตถุที่เคยอยู่ที่ปราสาทตาเมือนธม

หลักฐานแรกคือ ภาพทับหลังชิ้นเดียวกันซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือรายงานสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2503-2505 ของกรมศิลปากร

ภาพ : ทับหลังจากรายงานสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2503-2505 โดยกรมศิลปาก

หลักฐานชิ้นที่สอง คือ ภาพถ่ายโดย ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงถ่ายไว้เมื่อสำรวจภาคอีสาน และได้พบกับทับหลังชิ้นนี้สถานีตำรวจภูธรปราสาท อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เนื่องจากถูกอายัดไว้เป็นของกลาง ภาพดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารโบราณคดี พ.ศ. 2516 จากภาพถ่ายจะเห็นลวดลายของทับหลังรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลชัดเจน

 

นายเดวิด เคลเลอร์ เจ้าหน้าที่พิเศษ แผนกสืบสวน กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูแลคดีการทวงคืนโบราณวัตถุไทยในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า ฝ่ายสืบสวนได้ส่งสำนวนคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้พิพิธภัณฑ์พิสูจน์ว่า ทับหลังรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกาถูกต้อง ไม่ใช่ศิลปะโบราณวัตถุที่ถูกขโมยมาจากประเทศไทย

มีข้อมูลว่า ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 หมายความว่าโบราณวัตถุใดๆ ก็ตามที่ถูกนำออกนอกประเทศหลังปีดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ดังนั้น จากข้อมูลความเคลื่อนไหวสุดท้ายของทับหลังปราสาทตาเมือนธมซึ่งปรากฎอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2516 ก่อนไปปรากฏอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ The MET เมื่อ พ.ศ. 2532 จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งของประเทศไทยที่จะใช้เป็นหลักฐานอ้างได้ว่าทับหลังรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล จากปราสาทตาเมือนธม ถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างไม่ถูกต้อง

ข้อถกเถียงในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทย

รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ เปิดเผยว่า มีความคิดเห็น 3 แนวทางที่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อถกเถียงในคณะกรรมการของไทยว่า จะดำเนินการอย่างไรกับกรณีการทวงคืนทับหลังจากปราสาทตาเมือนธม ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนเรื่องที่ตั้งของตัวปราสาทว่าอยู่ในประเทศใด

ภาพ : รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ

แนวความคิดแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ คือ ไทยสามารถทำงานเชิงรุกเรื่องการทวงคืนได้เลย หากพบหลักฐานว่าโบราณวัตถุชิ้นใดน่าจะถูกขโมยเพื่อไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของสหรัฐฯ ไม่ว่าศิลปะและโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ จะยังมีความคลุมเคลือว่าเป็นของประเทศใด ด้วยปัญหาเรื่องแนวเขตแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

แนวความคิดที่สอง คือ ควรสืบสิทธิให้ชัดเจนก่อนว่าโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวเป็นของไทยหรือไม่ เพื่อจะได้ติดตามทวงคืนต่อไป ทั้งนี้ หากแน่ใจว่าเป็นของประเทศเพื่อนบ้านประเทศใด ให้ประสานแจ้งไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อให้ดำเนินการทวงคืนด้วยตนเองต่อไป โดยคณะกรรมการของไทยยังให้ความสนับสนุนช่วยเหลือได้ หากประเทศนั้นๆ ร้องขอหรือประสานมา

“แนวความคิดสุดท้าย คือ เสนอให้ใช้กลไกทางการทูต เช่น เชิญท่านทูตกัมพูชามาพูดคุย หรือ เสนอให้เป็นความร่วมมือของทั้งสองรัฐ ในลักษณะที่ว่า ณ ขณะที่ตาเมือนธมยังสรุปไม่ได้ว่าตัวปราสาทอยู่ในประเทศไทยหรือกัมพูชา แต่ถ้าตัวทับหลังอยู่ที่ตาเมือนธม แล้วเราอยากจะได้ทับหลังคืน โดยทั้งไทยและกัมพูชาคิดแบบเดียวกันว่าควรได้คืน ก็ให้ทวงคืนกลับมาก่อน จากนั้นอาจนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือนำไปติดไว้ที่ตัวปราสาทตามเดิมก็ได้ แต่ขอให้ได้คืนมาก่อน”

แนะมองวัฒนธรรมร่วมเหนือเขตแดน

นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ หนึ่งในคณะกรรมการการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศฯ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเขตแดนที่ตั้งของตัวปราสาท ทำให้กรรมการส่วนใหญ่ยังให้คณะทำงานด้านวิชาการศึกษาเรื่องทับหลังชิ้นนี้ต่อไป แต่ให้ชะลอการติดตามทวงคืนออกไปก่อน

ชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทที่เราเคยประกอบไว้ ก็ควรได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์ อย่างไรเสียมันก็เป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างสองประเทศ ในความเข้าใจของผม หากใช้วัฒนธรรมร่วมนำหน้าเรื่องเขตแดน การเมือง เราก็อาจทวงคืนทับหลังชิ้นนี้กลับมาได้

 ทั้งนี้ นายทนงศักดิ์มีความเห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นผู้ดูแลปราสาทตาเมือนธมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน หรือ งานบูรณะดำเนินการขุดแต่งโบราณสถาน เป็นต้น นอกจากนี้ โบราณวัตถุที่ได้จากปราสาทตาเมือนธมจำนวนหนึ่งก็ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ 

สหรัฐฯ ยังเดินหน้าฟ้องพิพิธภัณฑ์ The MET 

อย่างไรก็ตาม นายเดวิด เคลเลอร์ ให้ข้อมูลว่าฝ่ายสืบสวนของสหรัฐฯ จะยังดำเนินการฟ้อง THE MET ให้คืนทับหลังปราสาทจากตาเมือนธมต่อไป แม้ว่าชุดทำงานของไทยมีมติให้ชะลอการติดตามออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทวงคืนทับหลังรูปพระอินทร์เหนือหน้ากาล

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง